วงเสวนา รุมค้านขายเหล้า24 ชั่วโมง กระทุ้งว่าที่รัฐบาล คิดให้รอบคอบก่อนดันสุราก้าวหน้า ซ้ำเติมปัญหาเมาแล้วขับ ปัญหาสังคมในไทยสูงขึ้น งัดสถิติชี้ชัด ครึ่งปี 66 ยอดอุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย พุ่งแซงปี 65 ทั้งปีแล้ว แนะวางมาตรการ-กฎหมายคุมเข้มต้นน้ำถึง ปลายน้ำ เอาผิดร้านทั้งแพ่ง อาญา อัดงบฯ ตร.ตั้งด่านอุปกรณ์ครบมือครอบคลุมจำนวนร้านขายเหล้า ส่งศาลฟันโทษจำคุกไม่รอลงอาญา
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และมูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกันจัดเสวนา “จากสุราก้าวหน้า – ขาย 24 ชั่วโมง ความเสี่ยงอุบัติเหตุในสังคมไทย” พร้อมทั้งแสดงละครสะท้อนปัญหา “เสรีสุรา กับปัญหาสังคม โดยทีมเฉพาะกิจเธียร์เตอร์
นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการและกรรมการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เราไม่คัดค้านนโยบายสุราก้าวหน้า เพราะมองว่าจะช่วยลดทุนผูกขาด แต่ยังมีความกังวลเรื่องคุณภาพ และมาตรการควบคุมป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นพรรคก้าวไกลก็ต้องดำเนินมาตรการกฎหมายควบคุมป้องกันที่ก้าวหน้าด้วย คือ
1. ออกมาตรการควบคุมคุณภาพการผลิตสุราพื้นบ้านเพราะต้องเข้าใจว่าในทางปฏิบัตินั้นมีทั้งคนที่ทำแบบมีคุณภาพ และมีทั้งคนที่เอาง่ายเข้าว่าทำราคาถูกไม่คำนึงถึงความปลอดภัยมีการผสมสูตรต่างๆ
2. แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายจราจร หากเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุมีคนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตต้องบังคับเป่า หรือตรวจเลือดหาปริมาณแอลกอฮอล์ทุกราย ไม่ให้เป็นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากไม่ทำถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ทั้งนี้ เพื่อปิดช่องการหาผลประโยชน์ปิดช่องการช่วยเหลือกัน
3. ปรับปรุงกฎหมายเอาผิดร้านเหล้า ผับ บาร์ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางแพ่งและอาญา ให้มีความรับผิดร่วม กรณีขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือขายให้คนเมาครองสติไม่ได้แล้วไปเกิดอุบัติเหตุ
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ธรรมดา แต่มีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุความรุนแรงในครอบครัวปัญหาสังคมต่างๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ไม่ใช่ส่งเสริมให้เสรีกันอย่างเดียว ต้องมีการทำกฎหมายก้าวหน้าและต้องทำไปพร้อมๆกันไม่ใช่ ออกนโยบายสุราก้าวหน้ามาก่อนแล้วกฎหมายค่อยตามมาทีหลัง เพราะเรื่องกรณีกัญชาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่เร่งปลดล็อคก่อนที่จะมีกฎหมาย ทำให้ตอนนี้มีปัญหามากแล้วมานั่งแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ ถ้าจะมีเรื่องสุราก้าวหน้ามาอีก ปัญหาหลายเด้งเลย ยิ่งจะทำให้เกิดการขายได้ 24 ชั่วโมงยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่ คนเมาจะเพิ่มขึ้น เมาแล้วขับจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ในเรื่องนี้เครือข่ายขอคัดค้านอย่างเต็มที่”นายสุรสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากข้อมูลช่วงสงกรานต์ปี 2565 มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนนจากดื่มแล้วขับ สัดส่วนอยู่ที่ 16.5% แต่ในช่วงสงกรานต์ปี 2566 ลดลงเหลือ 10.6% หรือลดลง 5% เป็นผลมาจากการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันออกมาตรการควบคุมดูแล แต่ถ้าดูช่วงเวลาปกติสถิติไม่ได้ลดลงโดยข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมที่เก็บสถิติอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศ พบว่าปี 2566 แค่ครึ่งปีเกิดอุบัติเหตุ 182 ครั้ง ขณะที่ปี 2565 ทั้งปีอยู่ที่ 294 ครั้ง บาดเจ็บปี 2566 ทะลุไปที่ 212 คน ปี 2565 อยู่ที่ 264 คน และผู้เสียชีวิตปี 2566 อยู่ที่ 41 รายส่วนปี 2565 ทั้งปีเสียชีวิต 66 ราย จะเห็นว่าสถิติของปี 2566 ครึ่งปีเกือบ สูงกว่าปี 2565 ทั้งปี สะท้อนว่าการทำงานในช่วงเทศกาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องทำทั้งปี จึงเป็นที่น่ากังวลของการเปิดนโยบาย ขาย 24 ชั่วโมงคิดว่าน่าจะมีการเพิ่มปัญหาอย่างมากขึ้น
“ทั้งนี้ มองในมุมนักวิชาการก็คิดว่าไม่ควรขายได้ 24 ชั่วโมง หรือเสรีเกินไป เพราะเปิดโอกาสให้คนเข้าสู่วงจรเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนที่จะกลายเป็นเหยื่อ หรือกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญคือถ้าเปิดขายทั้งวันโอกาสจะเกิดผลกระทบกับคนทำงาน นักเรียนที่ใช้ชีวิตปกติช่วงกลางวันมากขึ้น แต่ถ้าสังคมต้องไปถึงจุดนั้นจริงๆ รัฐต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันตั้งแต่
1. ต้นน้ำ คือมีกฎหมายควบคุม เอาผิดร้านค้า ที่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้และบังคับใช้เข้มข้น
2.กลางน้ำ ต้องมีมาตรการตั้งด่านตรวจตลอด 24 ชั่วโมง จัดงบประมาณ และอุปกรณ์ในการตั้งด่านตรวจที่ครอบคลุมกับจำนวนร้านเหล้า ผับบาร์ที่เปิดทั่วประเทศ และต้องทำตลอดทั้งปี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดหาปริมาณแอลกอฮอล์ในคนขับที่เกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับต้องรองรับกับปริมาณนักดื่มที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการส่งฟ้องศาลภายใน 48 ชั่วโมง
และ 3. ปลายน้ำ การส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีโดยไม่รอลงอาญา โดยเฉพาะผู้ที่กระทำผิดซ้ำ ซึ่งมีอยู่ในลิสต์ 119 คดีตั้งแต่ปี 2565 แต่ปัญหาคือการลงโทษ มีเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ทำให้กฎหมายที่มีไม่สามารถป้องปราม หรือสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชน” นายธัชวุฒิ กล่าว
ขณะที่ นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมาเกือบ 20 ปี เห็นว่ามีบริษัทผูกขาดประมาณ 3-4 บริษัท เจาะทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สถิติที่เปิดออกมาก็จะพบว่าปัญหาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากอยู่แล้ว หากมีสุราก้าวหน้า การตลาดเสรีมากขึ้น ขายกันตลอดเวลา ก็ต้องพูดให้ชัดเจนว่าคืออะไร คือการส่งเสริมสุราพื้นบ้านอย่างเดียว คราฟเบียร์รายย่อยเพื่อลดปัญหาทุนผูกขาด หรือเสรีการค้าขายการดื่มให้ทั้งหมด ซึ่งจริงๆแล้วรายใหญ่ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย หากเป็นเช่นนี้จะยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สังคม เป็นต้น ส่วนตัวมองว่ามีผลเสียมากกว่าดี ดีคือมีรายได้กับท้องถิ่น ชุมชน ประทศ แต่จะมีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ การรักษาพยาบาลตามมาอีกมหาศาล เรียกว่าเสียมากกว่าได้ ดังนั้นจึงไม่ควรรีบร้อนดำเนินการ แต่ต้องศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน 2-3 ปีเอาให้ชัดเจน และทำประชาพิจารณ์ ถ้ารีบร้อนออกมาก่อนแล้วมาตามแก้ทีหลังจะลำบาก เหมือนกัญชาเสรีตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรสุดท้ายประชาชน ชุมชนคือคนรับกรรม