เฮลั่น! รับปริญญาพีไอเอ็ม ฝึกงานเด่น ได้งานดี โดนใจองค์กร

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดพิธีมอบและฉลองปริญญาบัตร รุ่นที่ 12 ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งมีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ จำนวน 4,390 คน โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวแสดงความยินดี เผยติดอาวุธให้ผู้เรียนในการทำงานผ่านการศึกษารูปแบบ Work-based Education ส่งเสริมให้คิดเป็น ทำเป็น เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และมีงานทำ พร้อมสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม และองค์กร เมื่อวันที่ 4 – 5 มีนาคม 2566 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า “พิธีมอบปริญญาบัตร ถือเป็นวันอันน่ายินดีและภูมิใจของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ซึ่งพีไอเอ็ม ได้ติดอาวุธใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. อาวุธทางทักษะการทำงาน การฝึกปฏิบัติงาน และการเรียนในห้องเรียนอย่างต่อเนื่องภายใต้รูปแบบ Work-based Education สามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ 2.อาวุธทางภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ ซึ่งเรียนรู้ทฤษฏีจากห้องเรียน ที่ช่วยส่งเสริมให้คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์เป็น และ 3. อาวุธทางคุณธรรม จริยธรรม นอกจากจะเป็นคนดี คนเก่งแล้ว ต้องนำมาใช้ประโยชน์ต่อการทำงาน ต่อตัวเอง ต่อองค์กร ต่อครอบครัว และต่อประเทศชาติ

ซึ่งจากนี้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรี จะเข้าสู่ชีวิตการทำงานอย่างจริงจัง เป็นการเปิดขอบฟ้าแห่งการรับรู้ใหม่ๆ ทำให้มีประสบการณ์กว้างขวางขึ้น ขอให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของโลก หรือที่เรียกว่า Disruption ที่ต้องเตรียมความพร้อม ใช้สิ่งที่เรียนรู้ฝึกปฏิบัติมาใช้ประโยชน์ให้รวดเร็วและมากที่สุด อีกทั้งยังคงยึดมั่นคุณธรรม ความถูกต้อง ใช้จริยธรรมจะเป็นเข็มทิศ เป็นหางเสือของการดำรงชีวิต และเกราะคุ้มกันในการทำงาน ทำให้ทุกอย่างราบรื่น โปร่งใส่ และมีธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง” รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ กล่าว

อัญธิกา สุขเกษม หรือ “จอย”

“แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จและ Ready to Work ในการทำงานหลังจบการศึกษา อัญธิกา สุขเกษม หรือ “จอย” บัณฑิตสาขาการจัดการธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ ปัจจุบันทำงานเป็น Quality Assurance Staff บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงความภูมิใจหลังสำเร็จการศึกษาว่า “ดีใจมากๆ ที่เรียนจนได้เกียรตินิยมอันดับ 2 คิดว่าเพราะมีพรแสวง เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ถึงทำให้ได้ทำงานในสายธุรกิจการบิน หากได้เรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ออกไปพบกับประสบการณ์จริงเลย จะทำให้เรานึกภาพของประเภทงานนั้นไม่ออก เมื่อได้ทั้งเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เลยเข้าใจว่าต้องมีทักษะอะไรบ้างสำหรับการทำงาน นอกจากนี้ยังได้ฝึกงานหลายรูปแบบ บางคนอาจจะยังไม่เจอสิ่งที่ชอบ แต่ที่นี่ทำให้ได้ค้นพบตัวตนของตัวเองเจอ งานที่ชอบ คณะที่ใช่ จบแล้วเวิร์คจริงๆ”

“เฟิร์น” ไพลิน พรหมเดช

สำหรับ “เฟิร์น” ไพลิน พรหมเดช บัณฑิตสาขาวิชาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาคาร คณะวิทยาการจัดการ ปัจจุบันทำงานเป็น เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายวิศวกรรมอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึงการได้เรียนคณะที่ชอบได้งานที่ใช่ว่า “เรียนที่นี่ได้ฝึกงานมากถึง 5 ครั้ง ตลอดหลักสูตร จึงได้ประสบการณ์การทำงานมากกว่าคนอื่น เพราะฝึกแต่ละครั้งเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง และได้คอนเนคชั่นที่ดีในสายงานที่เราเรียน ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้งานทำก่อนเรียนจบ มาจากผลงานและความตั้งใจปฏิบัติงานของตัวเราเองที่สถานประกอบการมองเห็น ต่อให้เรายังไม่มีใบปริญญาในมือ สถานประกอบการก็พร้อมรับด้วยความเต็มใจ เหมือนมีเครดิตตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา เพราะได้เห็นความสามารถของเราแล้ว”

ทางด้าน “โบ๊ท” นนทวัฒน์ วุฒิคำ บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันทำงานเป็น วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (AI/NLP Engineer) บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแรงบันดาลใจสร้างความสำเร็จว่า “ผมได้รับโอกาสทางการศึกษา และได้เข้าค่ายเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมระบบสมองกลฝังตัว โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับพีไอเอ็มที่สนับสนุนทุนการศึกษา ทำให้สามารถเข้ามาเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคณะในฝันและเป็นจุดเปลี่ยนอนาคตทั้งตัวเองและนักศึกษาคนอื่นๆ การเรียนที่นี่ทำให้ผมมีประสบการณ์ ได้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ สำหรับการฝึกงานประทับใจทุกปี โดยเฉพาะปีสุดท้าย เหมือนได้ทดลองว่าเราชอบอะไร ถนัดด้านไหน ก่อนการทำงานจริง เป็นการ Jump Start ก่อนคนอื่น รวมถึงทางคณะคอยให้คำแนะนำหาที่ฝึกงานเหมาะกับความถนัดเรา หลังจากเรียนจบแล้วได้ทำงานต่อทันทีและไปได้สวย ได้ทำงานในสายที่ชอบ ได้ค่าตอบแทนเป็นที่พอใจและสามารถทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น นั่นหมายถึงทุกอย่างตอนนี้มันเวิร์คมากครับ”

“โบ๊ท” นนทวัฒน์ วุฒิคำ

จากการที่เป็นมหาวิทยาลัยเครือข่าย หรือ Networking University พีไอเอ็มได้สร้างโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานจริง เพิ่มทักษะ องค์ความรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรที่เข้มแข็งทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ผ่านโครงการที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ เช่น “โครงการฝึกปฏิบัติและบรรจุงานร่วมกับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น” ส่งเสริมการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทักษะเฉพาะทาง พร้อมทำงานในระดับสากล ซึ่งดำเนินโครงการประสบความสำเร็จแล้ว ถึง 4 รุ่น บรรจุเข้าทำงานในบริษัทต่าง ๆ แล้วถึง 23 คน ตัวอย่างบัณฑิตรุ่นล่าสุด “แตงกวา” ณัฐชา ปัญญาคำ บัณฑิตสาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็น วิศวกรตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน บริษัท ASKA Corporation Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น เผยว่า “ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกงานเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ซึ่งเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ เป็นจุดผลักดันให้พัฒนาตัวเอง ก้าวผ่านขีดจำกัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้เป็นเพราะการสนับสนุนจากทางอาจารย์ ครอบครัว และพีไอเอ็ม ซึ่งเราเป็นบัณฑิตที่มีพร้อมทั้งความรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์การทำงานจริง จึงทำให้การเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการฝึกงานทุกชั้นปีทำให้ทำงานเป็น และองค์กรเห็นความพร้อมในการเป็นบุคลากรมืออาชีพ พอเรียนจบจึงได้งานทำเลยค่ะ จบแล้วเวิร์คจริง”

อีกหนึ่งโครงการล่าสุดแสดงถึงการขยายโมเดลการเรียนและฝึกงานของนักศึกษาไปสู่ต่างประเทศ คือ โครงการความร่วมมือกับ Guangxi LiuGong Machinery Co., Ltd. (LiuGong) พีไอเอ็มปั้นบุคลากรสายงานวิศวกรรม ผ่านการเชื่อมความสัมพันธ์และสานประโยชน์ระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ยกระดับเส้นทางอาชีพวิศวกรให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น พร้อมมีทุนสนับสนุนระหว่างการฝึกงานรวมถึงโอกาสได้รับคัดเลือกให้บรรจุงานในบริษัทที่ประเทศจีน สำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิวกรรมการผลิตยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ อีกทั้งจัดตั้ง “LIUGONG-PIM-LVTC Global Customer Experience Center” ในประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้และประสบการณ์ด้านเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง พัฒนาการเรียนการสอน ความสามารถด้านเทคนิคการใช้เครื่องจักรกลหนัก สำหรับพิธีมอบและฉลองปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2564 มีผู้สำเร็จการศึกษา ดุษฏีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต รุ่นที่ 12 จากหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ รวม 4,390 คน จาก 10 คณะวิชา ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะจัดการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง วิทยาลัยนานาชาติ และวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาจีน #รับปริญญาพีไอเอ็ม #จบแล้วเวิร์ค #PIMGraduationDay #TeamPIM

กว่า 16 ปี พีไอเอ็ม ยังคงเดินหน้ามอบโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนทุนการศึกษา พัฒนาคนให้พร้อมทำงานทันทีหลังเรียนจบ เป็นคนเก่ง คนดี และมีงานทำ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Work-based Education) ผสานองค์ความรู้เชิงวิชาการ จากทั้งองค์กรธุรกิจเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นคนคุณภาพของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *