สสส. เครือข่ายงดเหล้าห่วง!! เจ้าหน้าที่ อช.รับมือหนัก นักท่องเที่ยวแห่ สัมผัสอากาศหนาว ตั้งจุดรณรงค์สกัดการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วอนนักท่องเที่ยวเข้าใจ ปฏิบัติตามระเบียบ เพื่อความสงบและปลอดภัยทุกมิติ

เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ประชาชนเริ่มหลั่งไหลท่องเที่ยวคึกคักในพื้นที่เขตภาคเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น พื้นที่อุทยานแห่งชาติต่างๆ ในเขตภาคเหนือ นับเป็นสถานที่อันดับต้นๆ สำหรับพักผ่อนและดื่มด่ำกับธรรมชาติ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สนับสนุนโดย สสส. ร่วมจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียน “ไม่ขาย ไม่ดื่มในเขตอุทยานฯ และพื้นที่สาธารณะ” ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปี 2564 ภายใต้ พรบ.อุทยานฯ ปี 2562 และ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการ ปัญหาอุปสรรค ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าสำหรับ 7 อุทยานที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและ สสส. มีเป้าหมายเพื่อให้คนมีสุขภาวะที่ดี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียถึงสังคมหลายมิติ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กเสียอนาคต และอุบัติเหตุทางถนน สำหรับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอุทยานฯ ผู้ดื่มจะส่งเสียงดังสร้างความรำคาญแก่บุคคลอื่น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการความสงบ ซึ่งประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ห้ามมิให้นำเข้าไปหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยานแห่งชาติ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ “จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” การดื่มในที่สาธารณะและการดื่มในที่อุทยานฯ ยังนำมาซึ่งปัญหาขยะโดยเฉพาะเศษแก้ว ซึ่งการรณรงค์ช่วยจัดการสภาพแวดล้อม และจัดการขยะอีกด้วย

นายสุรเชษฐ์ พินิจงาม ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กล่าวต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมว่า ภาคเหนือมีป่าที่อุดสมบูรณ์ มีอุทยานขนาดใหญ่หลายอุทยาน และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี สำหรับการร่วมจัดเวทีถอดบทเรียน“ไม่ขาย ไม่ดื่มในเขตอุทยานฯ และพื้นที่สาธารณะ” ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของอุทยานฯต่างๆ ที่จะได้ทบทวนความรู้และทำความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติให้เกิดการดำเนินงานเสริมประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานของอุทยานฯ ส่วนใหญ่จะมีการดำเนินการติดป้ายประชาสัมพันธ์ในจุดต่างๆ และจัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะก่อนเข้าอุทยาน นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ใน facebook ของอุทยาน ตลอดจนรณรงค์โครงการขยะคืนถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการจัดเก็บขยะที่นำเข้ามาเพื่อร่วมดูแลธรรมชาติร่วมกัน

นายวัลลภ มังทา ผู้เข้าร่วมจากอุทยานแห่งชาติออบขาน กล่าวว่า อช.ออบขาน มีทางเข้าออกทางเดียว จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าฟรี แต่นักท่องเที่ยวต้องลงทะเบียนและให้ความร่วมมือในการให้ตรวจค้น (รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) อุปสรรคที่เป็นอุทยาน (เตรียมการ) ทำให้ไม่สามารถใช้ประกาศของอุทยานเรื่องห้ามมิให้นำเข้าหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยานแห่งชาติได้ จึงเน้นการตรวจค้นนักท่องเที่ยวก่อนขึ้นอุทยาน ถ้าพบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะให้นักท่องเที่ยวฝากเครื่องดื่มดังกล่าวไว้ที่จุดตรวจ ในช่วง high season ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง อุทยานจัดให้เจ้าหน้าที่เดินตรวจวันละ 2 รอบ ถ้าพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าไปเตือน และขอเก็บไปไว้เมื่อนักท่องเที่ยวกลับสามารถไปรับคืนได้

สำหรับการห้ามดื่มหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีดำเนินงานอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2563 มีการทำงานกันหนักมาก เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่รับรู้ นักท่องเที่ยวบางส่วนดื่มก่อนเข้าไปอุทยานแล้วไปเล่นน้ำในเขตอุทยาน ซึ่งเมื่อสิบปีก่อนมีนักท่องเที่ยวที่ดื่มแล้วไปเล่มน้ำในอุทยานแล้วเสียชีวิตด้วย

นายฐานันดร ตั้งสงบ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนจะมาเที่ยวน้ำตกนักท่องเที่ยวมีเป้าหมายว่าจะมาดื่มที่น้ำตก ด้วยมีทางเข้าออก 16 ช่องทาง และมีชุมชนรอบข้าง 36 ชุนชน จึงยากต่อการตรวจค้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ได้ทำความเข้าใจกับร้านค้าและมีสายตรวจไปสุ่มซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถ้าพบว่ามีการขายก็จะยกเลิกสิทธิในการจำหน่ายของร้านค้านั้นๆ สำหรับการมีประกาศ พ.ร.บ. อุทยานฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการดื่มในอุทยานและการส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นจะลดลง บางคณะดูงานเคยมีการขอมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสังสรรค์อย่างน้อยประกาศของอุทยานฯ ก็ได้สร้างการรับรู้ของนักท่องเที่ยวว่าไม่สามารถดื่มหรือนำมาดื่มในเขตอุทยานได้ สำหรับการไม่ดื่มเหล้าในเขตอุทยานมีข้อดีหลายประกาศ เช่น ลดการขับรถเร็ว นักท่องเที่ยวสามารถดูแลตัวเองได้ซึ่งทำไห้ภาระงานของเจ้าหน้าที่ลดลด และทำให้ปริมาณขยะลดลงด้วย

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมจาก อุทยานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ), อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน, อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว, และอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า ได้ถอดบทเรียนในภาพรวม พร้อมสนับสนุนการทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า มีประโยชน์มาก สามารถช่วยลดการขับรถเร็ว ช่วยลดอุบัติเหตุจาการเมาแล้วขับในเขตอุทยาน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งทำไห้ภาระงานของเจ้าหน้าที่ลดลด ทางอุทยานสามารถจัดระเบียนการท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ไม่เกิดข้อร้องเรียนของนักท่องเที่ยวในเรื่อง ส่งเสียงรบกวน ช่วยลดปริมาณขยะ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อุทยานให้น่าท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย.

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *