กรุงเทพฯ 12 กันยายน 2566 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จ DIPROM Heroes ปี 2 หนุนโอกาสการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมผ่านการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม โดยการบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนอง ความต้องการของตลาดด้วยการสร้างนวัตกรรมร่วม เชื่อมโยงเครือข่าย และสร้างโอกาสในการเข้าถึง แหล่งเงินทุน คาดว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มกว่า 250 ล้านบาท
นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการทุกระดับให้มีขีดความสามารถในการประกอบการ ที่เป็นเลิศควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ประกอบกับ นโยบายดีพร้อมโตที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับภาคธุรกิจให้เติบโต ด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น รวมทั้งการส่งเสริม บ่มเพาะ และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ กลุ่มกิจการเพื่อสังคมมาผ่านโครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม หรือดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM HEROES) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคม กลุ่มกิจการเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดด้วยวิธีการ สร้างนวัตกรรมร่วมและการปรึกษาแนะนำเชิงลึก เชื่อมโยงเครือข่ายกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ให้เป็นกลไกสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาดอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM HEROES) ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้มุ่งเน้น การพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (ฮีโร่) ด้วยกระบวนการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation) เพื่อเปิดช่องทางให้ฮีโร่ทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนในการสร้างสรรค์ หรือพัฒนาสินค้า/บริการร่วมกัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการซื้อขาย ขยายตลาด และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ และชุมชนเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่ผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโต ไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยได้เฟ้นหาฮีโร่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 กิจการ มาร่วมบ่มเพาะ องค์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนให้ฮีโร่เกิดแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดด้วยวิธีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกและ Co-creation ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท ปากาม้า (ไทยแลนด์) จำกัด
อีกทั้ง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เชื่อมโยงเครือข่ายกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ให้เป็นกลไกสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ตลอดจจนสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุน เพื่อสังคม พร้อมผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคมของภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลให้ธุรกิจทุกระดับเติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคงควบคู่กับการสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 8 บริษัท จาก 25 บริษัท ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ให้เข้าร่วมการนำเสนอโมเดลธุรกิจ (Pitching Day) ต่อแหล่งเงินทุน อาทิ นักลงทุนบุคคล (Angel investor) กิจการเงินร่วมลงทุน (VC) บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (CVC) และนักลงทุนเพื่อสังคม (Impact investor) โดย 8 บริษัท ประกอบด้วย
1. บริษัท สตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั้น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการศึกษาที่ให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองใช้งานฟรีเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย
2. บริษัท แบ่ง-ปัน-ให้ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ส่งเสริมการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่คนพิการ ด้วยการเป็นพนักงานขายขายผลิตภัณฑ์ที่สถานประกอบการต่าง ๆ แบ่งปันให้มาจำหน่ายทดแทนการจ่ายเป็นเงินสมทบเข้า กองทุนฯ
3. บริษัท หอมเพียงพอ กิจการเพื่อสังคม จำกัด ส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำเกษตรปลอดภัย ออแกนิคฟาร์ม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต พร้อมรับซื้อและประกันราคาผลผลิตทางเกษตรของชุมชน
4. บริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด โดยให้บริการออกแบบและผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการจัดการขยะ พร้อมจ้างงานคนในชุมชนและพัฒนาทักษะฝีมือ
5. บริษัท แคนนาฟลาวเวอร์ จำกัด มุ่งเน้นจัดการขยะอินทรีย์และขยะเศษอาหารให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการฝังกลบ
6. บริษัท รักษ์ไหม (ไทยแลนด์) จำกัด สนับสนุนองค์ความรู้และสร้างอาชีพการเลี้ยงไหมให้กับคนในชุมชน พร้อมพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์จากรังไหมและรับซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายต่างประเทศในช่องทางของบริษัท
7. บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสระบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยสนับสนุนการจ้างงานคนในชุมชนและสร้างอาชีพเสริมให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก
และ 8. บริษัท บ้านคนพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มุ่งเน้นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์อาหาร และสิ่งทอ ด้วยรายได้ทั้งหมดกลับคืนสู่แรงงานคนพิการ
โดยการนำเสนอโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่ายและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม The Society with playground ชั้น 22 อาคารเกษรทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งคาดการณ์การว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และจากการดำเนินงานโครงการ DIPROM HEROES ในปีที่ 2 นี้ ดีพร้อมเชื่อว่าจะเกิดการเชื่อมโยงทางการค้า ช่องทางการจำหน่าย และคาดว่าจะเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนรวมมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท นายวรวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย