บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นำโดย นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด และ ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ผู้รับมอบอํานาจจากอธิการบดีสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงและได้แลกเปลี่ยนความรู้จากโครงงานวิศวกรรมการเงิน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ทักษะการทํางานแบบมืออาชีพ และทักษะชีวิต เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรภาคอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของการลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า “คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ มีเป้าหมายคือทำอย่างไรให้เด็ก มีประสบการณ์มากที่สุดก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยโจทย์ว่างานวิจัยและโครงงานต้องไม่อยู่เฉพาะบนหิ้ง เราจึงมองหา Partner ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องการมุมมองใหม่ๆ จากไอเดียนักศึกษา และพัฒนา University-Industry Collaboration ให้สำเร็จร่วมกัน คำว่า ‘วิศวกรรมการเงิน’ อาจจะไม่คุ้นสำหรับคนไทยเคยแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของทั่วโลก โดยการจะผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการเงินต้องอาศัยองค์ความรู้ 4 ด้าน คือ เศรษฐศาสตร์ การเงิน วิศวกรรม และพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่แข็งแรง เราได้จับมือกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลิตวิศวกร ที่มีมุมมองใหม่ๆ ด้าน Financial Technology เพื่อตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจใหม่ และดิจิทัลเทคโนโลยี ในปี 2566
เราคัดเลือกบริษัทในสายหลักทรัพย์ กองทุน และ สตาร์ทอัพ เพื่อเป็นโจทย์ท้าทายให้นักศึกษาได้เตรียมตัว โดยเราได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด ในฐานะผู้นำในกลุ่ม Fin Tech และ Start up ที่ทันสมัยและมีโซลูชั่นใหม่ๆ สู่ตลาดอยู่ตลอด มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาได้ลงสนามจริง นักศึกษาจะได้ฝึกการวิเคราะห์และแก้ปัญหา เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาเป็นเวลา 2 เทอม ระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึง เมษายน 2567 โดยเทอมแรกจะเป็นการนำเสนอ Proposal และในเทอมที่ 2 จะเป็นการ Implementation ซึ่งรูปแบบของการทำโครงงานมีความแตกต่างจากในอดีต คือกำหนดให้เป็นการเขียน White paper แบบของ Start up ที่ให้คนทั่วไปอ่านได้เข้าใจ และสามารถนำไปต่อยอดได้เลย”
ด้าน นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด กล่าวว่า “เรามักจะถูกสอนให้เรียนเพื่อเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเลย เราไม่เคยถูกสอนให้เป็นเป็ด คนในสายวิศวกรรมเองก็ไม่สามารถเก่งเฉพาะ Deep Tech อย่างเดียวเท่านั้น ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึง Fin Tech เราจะเน้นไปที่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มคนเทคโนโลยีก็ไม่รู้ว่าภาคการเงินต้องการอะไร ดังนั้นการที่นิด้าออกแบบหลักสูตรนี้มา จึงเป็น Combination ที่ประเทศไทยกำลังต้องการ ภาคธุรกิจทุกวันนี้ต้องการความ Flexible และ Fragile มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากกว่าที่เราคิด ธุรกิจทุกหน่วยงานโดนดิสรัปต์ เราต้องการบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้ามาช่วย ทรานสฟอร์มองค์กร พอนิด้ามีโครงการนี้ขึ้นมา เราจึงไม่รีรอที่จะร่วมเป็นพันธมิตร เพราะเรามองว่าสิ่งนี้คือการทดลองร่วมกัน ซึ่งทางเราจะไม่มีโจทย์ให้นักศึกษาทำ แต่จะให้เขาเข้ามาหาข้อมูล มาสร้างโจทย์ และเสนอไอเดียเอง เราจะเอาเคสที่มีมาช่วยกันค้นหาว่า Financial Engineering จะสร้างนวัตกรรมทางด้านการเงิน เพื่อตอบคำถามให้กับธุรกิจ ได้อย่างไร ผมว่าเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาบุคลากรที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไปทำประโยชน์ให้องค์กรได้เลย อย่างไรก็ดี ‘กระบวนการ’ ก็มีความสำคัญไม่แพ้ ‘เป้าหมาย’ เพราะก่อนที่จะได้ผลลัพธ์จับต้องได้ เช่น คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ต้องผ่านกระบวนการคิด ลองทำ ฟีดแบค และการเรียนรู้ ซึ่งในระหว่างทางเราจะเรียนรู้กันคนละมิติ ทั้งมิติอาจารย์ มิตินักศึกษา และมิติบริษัทฯ และผมเชื่อว่าซากของพัฒนาการที่หลงเหลือนั้น ถึงแม้อาจจะไม่ได้ใช้งานในช่วง 8 เดือนที่ฝึกงาน แต่ก็อาจจะมีคนเกิดไอเดียและนำไปต่อยอดเป็นโปรเจกต์อื่นๆ ได้อีก ซึ่งกระบวนการกับการเรียนรู้ตรงนี้ ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นายธนวัฒน์ กล่าว