ผอ.สคล. ถามกลับนักวิชาการ โพสต์ผลวิจัย Gen Z หนุน เสรีผลิต-โฆษณาน้ำเมา เป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งต่อกฎหมายที่สร้างผลกระทบกับคนทั้งประเทศ

ผอ.สคล. ถามกลับนักวิชาการ โพสต์ผลวิจัย Gen Z หนุน เสรีผลิต-โฆษณาน้ำเมา เป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งต่อกฎหมายที่สร้างผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ไร้คำถามผลกระทบ ชี้ควรสำรวจทุกกลุ่มอายุ และไม่คัดค้านสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องไม่กระทบเสรีภาพคนอื่น งานวิจัยชี้ชัด “แอลกอฮอล์” กระทบสิทธิผู้คนสังคม กว่า 70% ได้รับผล ซัดหนุนเสรี ให้โฆษณาสุดท้ายเอื้อนายทุน รายใหญ่กินรวบ

จากกรณีมีการนำเสนอข่าวงานวิจัยส่วนบุคคลของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอบถามจากคน Gen Z ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง 412 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยใช้ ข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ควรให้ประชาชนสามารถผลิตเหล้าเบียร์และขายได้อย่างเสรี รวมทั้งโฆษณาสินค้าได้ ภายใต้การกำกับควบคุมด้านคุณภาพและสุขอนามัย หรือไม่” และสรุปออกมาว่า ส่วนใหญ่ 53.2 % เห็นว่าควรเปิดเสรีให้ประชาชน ผลิต ขาย โฆษณา ภายใต้การกำกับควบคุมด้านคุณภาพและสุขอนามัย เพราะจะทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้เพิ่ม, สร้างรายได้ให้กับประเทศ, ประเทศได้ภาษี ลดการผูกขาดนายทุนใหญ่

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า อยากตั้งคำถามกับผลวิจัยนี้ ตั้งแต่วิธีการสำรวจทำไมถึงเลือก ถามเฉพาะกลุ่ม Gen Z ซึ่งอาจจะบอกว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศก็ได้ แต่เรื่องที่ถามนั้นไปเกี่ยวโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ทำไมไม่ถามคนรุ่นอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสังคมไทยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยส่วนตัวที่ออกมานี้มีการสรุปว่าคน Gen Z ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีเสรีในการผลิต โฆษณา และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้คนในสังคมมีทัศนคติ และมีการเลือกฝ่ายทางการเมือง และบางครั้งฝ่ายการเมืองก็มีการชักจูง หรือให้ความเห็นไปในทางนั้นมาก ซึ่งตนไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุก Gen ต้องการอยู่แล้ว แต่เสรีภาพนั้น หากใช้เกินจนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่นไม่ได้ เมื่อเคารพเสรีภาพของตัวเองแล้ว ก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนอื่นด้วย

“เวลาคนเมาขาดสติแล้วก็จะไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ตั้งแต่เมาแล้วขับ การทำร้ายผู้อื่น ก่ออาชญากรรม ข่มขืน ซึ่งเคยมีงานวิจัยว่าพบว่าคนไทยประมาณ 70% เคยได้รับผลกระทบจากคนดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ระดับน้อย เช่น ดื่ม เมา สร้างความรำคาญในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือในอุทยานแห่งชาติ รบกวนคนเที่ยวธรรมชาติ จนอุทยานต้องออกกฎห้ามดื่ม ดังนั้นเราสนับสนุนเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง ที่พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า อีกทั้งมีผลวิจัยของอังกฤษยังระบุด้วยว่าสิ่งเสพติดที่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นมากที่สุด ยิ่งกว่าสิ่งเสพติดทุกชนิด คือแอลกอฮอล์ แต่ผลกระทบต่างๆ เหล่านี้ไม่มีการสอบถามในโพลดังกล่าวเลย ที่ไม่ควรลืมคือ น้ำเมาก็ทำลายสิทธิการมีสุขภาพดีของผู้ดื่มด้วย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าแอลกอฮอล์เป็นเหตุของ 200โรค และงานวิจัยที่ดีที่สุดในปัจจุบันระบุว่า ไม่มีขนาดของแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย แสดงว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่ออวัยวะทุกส่วน แม้ดื่มไม่มาก”
เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ระบุว่าเป็นการส่งเสริมสุราพื้นบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการผูกขาดของทุนใหญ่นั้น ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เราเห็นด้วยว่าไม่ควรมีการผูกขาดกับคนไม่กี่ตระกูล แต่การที่บอกว่าควรเปิดเสรีให้ผลิต โฆษณา ขายอย่างเสรีนั้นต้องกลับมาที่หลักการเดิมว่าสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ต้องไม่กระทบเสรีภาพของผู้อื่น หรือส่วนรวมเสียหาย แต่ปัจจุบันมีการขยายไปถึงขั้นที่มีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สามารถโฆษณาได้อย่างเสรีนั้นตนไม่เห็นด้วย หากบอกว่ามาตรา 32 เรื่องการโฆษณาไม่ชัดเจน เสี่ยงทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ในทางที่ผิดได้นั้น ก็ควรแก้ไขทำให้เข้มขึ้น เอาให้เหมือนการควบคุมยาสูบที่ห้ามโฆษณาเด็ดขาด ซึ่งยาสูบกระทบกับสุขภาพเป็นหลัก แต่แอลกอฮอล์ เป็นสิ่งเสพติดที่สร้างปัญหารอบด้าน ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมฯ จึงไม่ควรโฆษณา การแก้กฎหมายต้องแก้ให้ดีขึ้นกับสังคมส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย

“คนที่รณรงค์ว่าให้มีการโฆษณาได้อย่างเสรีนั้น ผมไม่รู้ว่าคนนั้นไม่รู้จริงๆ ว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของนายทุนใหญ่ ทั้งๆที่พูดว่าไม่อยากให้ทุนขนาดใหญ่เอาเปรียบโดยการผูกขาด แต่การเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้โฆษณาได้เสรี จะยิ่งทำให้ทุนใหญ่ได้เปรียบ เพราะมีทุนมหาศาลในการสร้างสื่อโฆษณา และซื้อพื้นที่สื่อได้มากกว่า ยิ่งได้เปรียบรายเล็กแน่นอน ยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำ ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ แต่หากคุมโฆษณาได้เด็ดขาดจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทำการโฆษณาไม่ได้เหมือนกัน หรือรายเล็กอาจได้เปรียบกว่า เพราะการบอกต่อจากผู้บริโภคมากกว่า ที่สำคัญคือ สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ที่สามารถลดปัญหาได้” ผู้อำนวยการ สคล. กล่าว.

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *