เครือข่ายแพทย์ ชำแหละรายงานกมธ.พาณิชย์ฯ เรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า ชี้จุดอ่อนเพียบ ไร้ความน่าเชื่อถือ ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ซ้ำตั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ปรึกษา หวั่นไทยซ้ำรอยนานาชาติเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า ทำเด็กติดบุหรี่มากขึ้นเกินเท่าตัว
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยถึงกรณีรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ภายใต้กรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ที่เผยแพร่เมื่อวันที่6ต.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยพบว่ารายงานฉบับนี้มีจุดอ่อนหลายประเด็น และส่อว่าจะมีการดำเนินการที่ขัดกับอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก ทำให้การจะนำรายงานนี้ไปใช้ประโยชน์จะมีปัญหาได้
ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ มีการตั้งบุคคลที่เป็นเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ปรึกษาถึง2คน ซึ่งเครือข่ายนี้มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยเป็นสมาชิกองค์กรสนับสนุนการใช้นิโคตินนานาชาติที่รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ ที่จัดตั้งโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติรายหนึ่ง ที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก และต้องการเข้ามาทำตลาดในไทย เรื่องนี้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้เคยทำหนังสือที่ พสท.ยส.304/2564 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2564 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ท้วงติงการแต่งตั้งที่ปรึกษา 2 รายนี้ในอนุกรรมาธิการฯ ขัดต่อกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบมาตรา 5.3 ที่มีข้อกำหนดข้อหนึ่งว่า ภาคีต้องไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่พิจารณากำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ เนื่องจากผลประโยชน์ของธุรกิจยาสูบ ขัดแย้งกับเป้าหมายด้านสาธารณสุขอย่างไม่สามารถที่จะออมชอมกันได้
“อยากให้สังคมช่วยกันจับตาความเคลื่อนไหวของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่พยายามวิ่งเต้นภาครัฐให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในไทย การที่คนกลุ่มนี้เข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษาในคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ได้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของเครือข่ายนี้ นอกจากอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้แล้ว คนกลุ่มนี้ยังวิ่งเต้นจนเข้าไปร่วมในกรรมาธิการชุดอื่น ๆ ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย” ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าว
ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นนี้ยังทำให้อนุกรรมาธิการท่านหนึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการ โดยท่านเคยเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยพิธีสารขจัดการค้าผิดกฎหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะหากอนุกรรมาธิการท่านนี้ยังร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ส่อว่าจะขัดกับนโยบายองค์การอนามัยโลก ที่ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมดำเนินการใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่และเครือข่าย เพราะจัดเป็นพวกเดียวกับบริษัทบุหรี่ และองค์การอนามัยโลกยังให้คำแนะนำแก่รัฐภาคีและทุกหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลกให้ยึดปฏิบัติอย่างเดียวกัน
ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ยังมีจุดอ่อนอีกหลายประการ เช่น ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาให้ข้อมูลบางคนมีลักษณะอิงที่ตัวบุคคล ทั้งที่ควรจะเป็นผู้แทนสถาบันหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ และไม่ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญด้านใด เคยมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ยาสูบในลักษณะใด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ อีกทั้งการให้ข้อมูลของผู้ที่ถูกเชิญมาบางรายมีลักษณะที่เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่อ้างอิงวิชาการ และบางข้อมูลเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและคล้ายกับข้อมูลที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักนำมาอ้างอยู่เสมอ ที่สำคัญมีผู้เชี่ยวชาญบางคนที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เชิญมาให้ข้อมูลมีประวัติเคยรับทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอีกด้วย
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า รายงานฉบับนี้ ได้สรุปแนวทางการบริหารจัดการบุหรี่ไฟฟ้าของไทย 4 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดเลยที่กล่าวถึงเรื่องผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชนทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าประสบปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนจนภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดมีการรายงานตัวเลขเด็กมัธยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 2.55 ล้านคน และ 1 ใน 4 ติดบุหรี่ไฟฟ้าจนต้องสูบทุกวัน ส่วนอังกฤษ พบเด็กอายุ15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18% โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงกว่าเด็กผู้ชาย เพิ่มจาก 10% เป็น 21% ระหว่างปี 2018-2021 เด็กที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก29% เป็น 61% และนิวซีแลนด์ พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลังยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าคือ จาก1.8% เมื่อปี 2018 เพิ่มเป็น 9.6% ในปี 2021 แม้ว่าประเทศเหล่านี้มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กต่ำกว่า18 ปี มีงบประมาณและมาตรการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบได้ดีกว่าไทย แต่ก็ยังแก้ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไม่ได้
“ขอตั้งข้อสังเกตไปถึงคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ เพื่อรับทราบถึงจุดอ่อนที่เป็นปัญหาของการดำเนินการของอนุกรรมาธิการที่ทำรายงานฉบับนี้ หากจะนำข้อสรุปของรายงานฉบับนี้ไปเสนอแนะนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการศึกษาผลกระทบเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าของคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ยังศึกษาไม่รอบด้าน เน้นเชิงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จนไม่ได้มองภาพรวมของผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าด้านอื่น ๆ ทั้งด้านสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะการปกป้องการเข้าถึงของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว