วงเสวนาเผย 3 รูปแบบกัญชาทำคนเสียชีวิต ทั้งทางตรง ทางอ้อม พร้อมเปิดตัวเลขคนเข้ารับการรักษา ในช่วงโควิด ยังไม่สะท้อนสถานการณ์จริง แนะดูผลกระทบคนคลั่ง-ทำร้ายตัวเอง-สังคม อึ้ง ครูทางเหนือวอนให้ความรู้ ลูกศิษย์ถือครอบครองกัญชาเพื่อสูบเพียบ หนุนรัฐปรับกัญชาเป็นยาเสพติด ช่วงสุญญากาศ พร้อมร่างกม. เข้มข้น ไม่น้อยกว่าประเทศเสรีนันทนาการ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรแกรมฝึกอบรมพัฒนานักวิจัยด้านสารเสพติดมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเสวนาวิชาการด้านยาเสพติด กรณีผลกระทบจากการใช้กัญชา
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก. กล่าวว่า หลังวันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา มีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วน โดยพบรายงานการเกิดโรคจิต การเกิดอาการเป็นพิษจากการใช้กัญชาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ตัวเลขจาก ศศก. พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราวสองเท่า และผลเบื้องต้นพบการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 29.56% ในแบบผู้ป่วยนอก และ 44.33% ในรูปแบบผู้ป่วยใน ในช่วงปี 2020-2021 เทียบกับตอนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกัญชา สวนทางกับจำนวนผู้รับการบำบัดยาเสพติดโดยตรงทุกชนิดที่ลดลง
นพ.อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตัวเลขผู้เข้าสู่ระบบการรักษากรณียาเสพติดทุกชนิด ปี 2561 ประมาณ 248,000 คน ปี 2562 ประมาณ 263,000 คน ปี 2563 ซึ่งเริ่มมีการระบาดโรคโควิดพบประมาณ 220,000 คน ปี 2564 พบ 170,000 คน ส่วนปี 2565 ถึงตอนนี้พบ 86,000 คน อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 มีการปรับบริการในโรงพยาบาล บุคลากรต่าง ๆ จะเน้นไปที่โรคโควิดเยอะ ถือเป็นความแปรปรวนที่ทำให้ตัวเลขที่ออกมาไม่สะท้อนกับความเป็นจริง หรือต่ำกว่าการคาดการณ์ความชุก แต่ตัวที่สะท้อนได้ดีคืออันตรายจากยาเสพติด เช่น อันตรายต่อตัวเอง ต่อสังคม มีการคลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ก่ออาชญากรรม การเสียชีวิตจากการน็อคยา การเมาสุรา กัญชา เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาจะพบข้อมูลส่วนนี้ราวๆ 2-5 % ที่เป็นข่าว
นพ.อภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกัญชาที่มีการปลดออกจากยาเสพติดในปี 2561 พบคนเข้ารับบำบัดกัญชา 5.57% ปี 2562 คิดเป็น 6.89% ส่วนปี 2563 ที่ถูกกระทบจากโควิดลดเหลือ 4.8 % ปี 2564 เหลือ 4.2% ส่วนปี 2565 จนถึงตอนนี้พบ 4% ทั้งนี้คนที่เข้ารับการบำบัดกัญชา เมื่อเกิดปัญหาเสียการทำงาน เสียการเรียน ส่วนที่เสพแล้วยังไม่เกิดปัญหา หรือถูกรับรู้น่าจะพอสมควร อย่างการปลดล็อควันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา คงไม่เห็นผลทันที ต้องใช้เวลา ดังนั้นในช่วงสุญญากาศทุกฝ่ายต้องให้ข้อมูลทั้งด้านดี ด้านร้ายของกัญชา อย่างจริงใจ แสดงถึงความห่วงใย ให้แก่กลุ่มเปราะบางได้ทราบและตัดสินใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งตอนนี้พบว่ามีคุณครูจากโรงเรียนทางภาคเหนือติดต่อมาขอให้ไปให้ความรู้กับเด็ก ๆ จำนวนมาก เพราะพบเด็กครอบครองกัญชาในรูปแบบการสูบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กหัวโจก
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาร THC ในกัญชาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหลัก ๆ 3 กรณีคือ 1.สาเหตุโดยตรงจากการกินกัญชาเกินขนาด ซึ่งเจอน้อย แต่มักเจอในเด็กที่เผลอกินกัญชาเข้าไป 2.กระตุ้นให้เกิดอาการบางอย่างจนเสียชีวิตได้ มีการไปกระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด แม้สูบ 1 ครั้ง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ที่ต้องสวนหัวใจถึง 5 เท่า เทียบกับคนไม่สูบ 3. ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา ทำให้เกิดโรคจิตเวช หูแว่วประสาทหลอน บางคนคิดว่าตัวเองเป็นนก เลยกระโดดตึก หรือการใช้กัญชาทำให้มึนเมา เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น ดังนั้นต้องมีการควบคุมให้เข้มข้นกว่านี้ ต้องไม่น้อยกว่าประเทศที่บอกว่ามีการใช้เสรีนันทนาการที่มีการควบคุมเข้มข้น เช่น กำหนดปริมาณการปลูกในครัวเรือน ทำมิดชิด กำหนดปริมาณครอบครองในที่สาธารณะ ห้ามสูบในที่สาธารณะ แต่ของไทยตอนนี้ไม่คุมอะไรเลย เพราะปลดออกจากยาเสพติดก่อนที่กฎหมายควบคุมจะออกมา ดังนั้นตนสนับสนุนแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ในช่วงสุญญากาศให้คืนสถานะกัญชาเป็นยาเสพติด และทำกฎหมายให้เข้มข้น มีการทำประชามติ
Joel Gelernter Yale School of Medicine นายโจเอล กล่าวว่า จากการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ กลุ่มที่มีการติดโอพิออยด์ ในพื้นที่ที่ภาคเหนือของไทยก่อนที่ปัญหาจะลดลง และมีการใช้เมทแอมเฟตามีนมากขึ้นในไทย การศึกษาความสัมพันธ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเมทแอมเฟตามีน ซึ่งตอนนี้เก็บตัวอย่างได้กว่า 4 พันคน รวมถึงเน้นการศึกษาการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็พบว่าในชาวเอเชียจะมียีน ALDH2 ที่ทำให้ติดแอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้ยังพบยีน DLGAD2 ที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดยาบ้า แต่ในส่วนนี้ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน ส่วนผลการศึกษากัญชานั้น มีการศึกษาในกลุ่มทหารผ่านศึก ที่เข้าสู่โปรแกรมบำบัดรักษาในรพ.ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ มีปัญหาสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างกว่า 8 แสนคน ก็พบความสัมพันธ์กันกับตัวรับสารแคนนาบินอยด์ ขณะนี้กำลังศึกษาเพิ่มเติมกรณีกัญชากับการเกิดมะเร็ง และกัญชากับการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่มีการศึกษาที่รองรับว่าปริมาณสาร THC ที่ปลอดภัยในการได้รับในแต่ละวัน
อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเป็นเพศทางเลือกนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับมากนักทำให้เกิดความเครียด เลยมีการใช้สารเสพติดเพื่อบรรเทาเบาบางความรู้สึกการไม่ถูกยอมรับ ซึ่งไม่แตกต่างจากคนทั่วไป อีกกลุ่มที่ใช้สารเสพติดเพื่อการทำงาน เช่น เซ็กเวิล์คเกอร์ ใช้ยาเพื่อลดความเจ็บปวด หรือให้มีเพศสัมพันธ์นานขึ้น และกลุ่มที่สมัครใจใช้ ดังนั้นเพื่อให้กลุ่มเพศทางเลือกเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษายาเสพติดมากขึ้น ผู้ให้บริการต้องให้ความเข้าใจ ไม่ตีตรา อย่าเหมารวมว่าเพราะเป็นเพศทางเลือกจะต้องมีการใช้สารเสพติดแน่นอน ทั้งนี้นักสังคมสงเคราะห์ หรืออาสาสมัครต่าง ๆ อาจจะต้องเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบเดียวกันเพื่อให้มีความเข้าใจ รับฟังซึ่งกันและกัน และสิ่งที่ต้องพูดกันคือปรับระบบให้การบำบัดทดแทนยาเสพติด (Harm Reduction) ให้เป็นมิตร สอดคล้องกับสภาพปัญหา ซึ่งการเลิกอาจจะยาก แต่ควรให้คำแนะนำถึงการป้องกันอันตราย
นายอำนาจ เหล่ากอที ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาที่เป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือเด็กเยาวชนเป็นสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วกัญชาต้องอยู่ภายใต้มาตรการกรอบของกฎหมาย ป้องกันปัญหานำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ในการสำรวจปี 2564 ที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด 19 เทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2562 พบว่าการพนันไม่ได้ลดลง โดยเฉพาะหวยใต้ดิน และสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีการเปลี่ยนจากบ่อนการพนันใหญ่มาเป็นบ่อนวิ่ง บ่อนขนาดเล็ก บ่อนในชุมชน และงานศพ รวมถึงผุดเว็บพนันออนไลน์ขึ้นมาแทนที่ ที่เป็นปัญหามาคือพบเด็กเยาวชนเกี่ยวข้องกว่า 4 ล้านคน ผู้สูงอายุอีกกว่า 4 ล้านคน เกิดผลกระทบจากการพนัน เช่น ขาดเงิน เป็นหนี้เป็นสิน เครียด และด้วยความพยายามหาเงินมาใช้หนี้จึงมีจำนวนหนึ่งเลือกทำอาชีพเสี่ยง เช่น ก่ออาชญากรรม ลักขโมย ค้าประเวณี หรือค้ายาเสพติด ดังนั้นการแก้ไขปัญหาควรแก้ไข พ.ร.บ. การพนัน 2478 ให้ทันสมัย ครอบคลุมการเล่นพนันออนไลน์ และรูปแบบอื่น ๆ มีบทลงโทษที่แรงขึ้น