DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคดิจิทัลในงาน DG Summit 2022 พร้อมเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมภิบาลข้อมูล

DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคดิจิทัลในงาน DG Summit 2022 พร้อมเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมภิบาลข้อมูล หรือ DIGI เป็นศูนย์ข้อมูลเปิดภาครัฐดันประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมข้อมูล

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคใหม่ภายใต้แนวคิด Digital Government in Metaverses ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนกว่า 25 หน่วยงานในงานสัมมนาแห่งปี Digital Government Summit 2022 ที่รวมบริการดิจิทัลภาครัฐแบบครบวงจรมาให้ประชาชนได้สัมผัส ได้พบกับประสบการณ์จริงที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น พร้อมอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยภายในงานมีพิธีเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (DIGI : Data Innovation and Governance Institute) และพิธีมอบรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล รวมถึงการมอบรางวัลประกวดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐในการวิเคราะห์เชิงลึก (Data Analytic) ในโครงการ DIGI Data Camp “ค่ายสานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ ประจำปี 2565” โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล” เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญสำหรับรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 28 พฤกษาคม 2565 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลให้ฟังว่า การจัดสัมมนา DG Summit 2022 นี้เป็นการจัดงานต่อเนื่องทุกปีเพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพจำที่เปลี่ยนไปของการให้บริการราชการไทยสู่มิติใหม่ของการผสานเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการประชาชนได้ทุกช่วงวัยและสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการรัฐได้อย่างครอบคลุมและสะดวกสบายมากขึ้น ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ ปี 2563-2565 โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มสำคัญ คือ

1.กลุ่มการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีโครงการสำคัญคือ โครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification: ID One SMEs) ซึ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยนำระบบ BizPortal ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในการขออนุญาต เปลี่ยนแปลง แก้ไข ต่ออายุ หรือยกเลิก ใบอนุญาตแบบออนไลน์ มาต่อยอดบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และใช้ Digital ID ในการยืนยันตัวตนได้ ซึ่งภายในปี 2565 จะมีจำนวนผู้ประกอบการ/บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลขึ้นทะเบียนระบบ SME ID (KYC ยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ราย

2.กลุ่มความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) โดยได้เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งได้รวบรวมงานบริการของภาครัฐอำนวยความสะดวกประชาชนทุกช่วงวัยโดยเชื่อมโยงกับ D.DOPA ของกรมการปกครอง ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ มีบริการรวม 53 บริการ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 234,823 ครั้ง และมีปริมาณการใช้งานทุกบริการมากกว่า 1,762,261 ครั้ง เช่น บริการตรวจสอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน บริการสิทธิการรักษาพยาบาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

3. กลุ่มการศึกษา มี 2 โครงการสำคัญคือ โครงการ Digital Signature for Digital Transcript ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ให้บริการ Digital Transcript จำนวน 39 แห่ง คาดว่าจะมีเอกสารทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลในปีการศึกษา 2564 จำนวน 163,370 คน และมีหน่วยงานรัฐ องค์กรสถาบัน และบริษัทเอกชน จำนวน 16 หน่วยงาน และโครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล ด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem)

4. กลุ่มการเกษตร มีโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร โดยมีการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล 235 ชุดข้อมูล แบ่งเป็นกลุ่มข้อมูล 14 กลุ่ม และแบ่งตามหน่วยงานที่ให้ข้อมูล 59 องค์กร โดยจัดทำเว็บไซต์ dataset.nabc.go.th สำหรับให้บริการ Data Catalog ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรที่ได้จากการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

5. กลุ่มการมีส่วนร่วม มี 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการระบบกลางด้านกฎหมาย Law Portal เป็นระบบที่ต้องการให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย ของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นช่องทางที่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็น และเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางกฎหมายของประเทศ ปัจจุบันระบบ Law Portal ระยะที่ 1 เสร็จแล้ว โดยมีกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อรับฟังความคิดเห็น และประเมินผลสัมฤทธิ์รวมทั้งหมดแล้วจำนวน 156 ฉบับ จาก 57 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากถึง 48,419 ครั้ง และโครงการระบบจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ โดยจะมีระบบการติดตามผลและสถานะเรื่องร้องทุกข์ (Tracking System) ระบบการรายงานผล (Dashboard) อีกทั้งได้สำรวจความต้องการจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Monitoring Tool) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน และสามารถสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบแบบสำรวจความพึงพอใจ (Satisfaction Survey) เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้วย

และ6 กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการระบบอ่านใบรับรองข้อมูลสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล เฟส 1 (Digital Health Certificate Resolver) ภายใต้โครงการ Digital Health Passport Application และโครงการสนับสนุนการใช้ดิจิทัลรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 (DGA RC Thailand Pass City Pass) โดยพัฒนาระบบ Thailand Pass เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางเข้าประเทศทดแทนการออกเอกสาร Certificate of Entry (COE) โดยสามารถรองรับผู้ใช้งานที่จำเป็นต้องผ่านการตรวจคัดกรองหน้าด่านได้ประมาณ 1,000 คนต่อชั่วโมง ช่วยลดเวลาการตรวจคัดกรองได้ถึง 50% และลดระยะเวลาการพิจารณาเอกสารจากเดิม 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1-3 วันเท่านั้น ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนระบบ Thailand Pass จำนวน 2,871,304 คน และได้รับอนุมัติแล้วประมาณ 2,207,096 คน โดยโครงการที่สำคัญเหล่านี้ DGA ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติสูงสุด และเร่งได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีวิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน”

เป้าหมายของแผนฯ ฉบับนี้จะเน้นเรื่อง 1. ให้บริการที่ตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ 2. เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ 3. โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม 4. ภาครัฐที่ปรับตัวทันเวลา

นอกจากนี้ DGA ได้ทำพิธีเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมภิบาลข้อมูล DIGI : Data Innovation and Governance institute เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้มีคุณภาพตามกรอบธรรมาภิบาล นำไปสู่การเปิดเผย เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และประเทศอย่างยั่งยืน และพิธีมอบรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล ให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัลพร้อมกันทั่วประเทศ

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *