ทีเซลส์ ร่วมกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมออนไลน์ หัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

ทีเซลส์ ร่วมกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมอบรมออนไลน์ หัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์”ภายใต้ โครงการสังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์เฉลิมพระเกียรติฯ มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้ดูแล ในขณะที่จำนวนของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มีเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้ปัญหาและความเข้าใจของผู้ดูแลผู้ป่วยคนไข้อัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัด กิจกรรมอบรมออนไลน์ในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์”ภายใต้โครงการสังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์เฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งได้จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual Conference เพื่อถ่ายทอดความรู้ แนวทางการรักษา และการจัดสภาพแวดล้อม ให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำความเข้าใจและปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

ภายในงานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์มาร่วมพูดคุยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย แนวทางในการรักษาและการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยเสริมสร้างคุณภาพของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย, ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พรพรรณ ธรรมศิลป์ นักกิจกรรมบำบัด ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และประธาน รัชตจำรูญ นักจิตวิทยาคลินิก มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ

นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินงานรูปแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยทางมูลนิธิฯ ขอขอบคุณเครือข่ายการดำเนินงานทุกภาคส่วนที่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ และส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงในการดูแลรักษาผู้ป่วย มาร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าทุกท่านจะได้นำเกร็ดความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ด้าน ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานและเลขานุการ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น โดยอาการของผู้ป่วยจะสังเกตได้จากการสูญเสียด้านความจำ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ได้แก่ อาการโรคจิต หูแว่ว หลงผิด ระแวง ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง หรือมีอารมณ์ผิดปกติ ได้แก่ ซึมเศร้า วิตกกังวล ยับยั้งใจไม่อยู่ นอกจากนั้นยังมีปัญหาพฤติกรรมที่พบ ได้แก่ หงุดหงิด ก้าวร้าว นอนไม่หลับ พฤติกรรมซ้ำๆ ปัญหาการกิน การนอน พฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น โดยผู้ดูแลต้องสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ให้แน่ชัดและแก้ไขให้ตรงจุด สำหรับการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน มีการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การรักษาของแพทย์ และอีกวิธีหนึ่งคือการรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถนำมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่บ้านได้ เช่น ปรับสิ่งแวดล้อม กระตุ้นอารมณ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกาย ออกกำลังสมองและทำกิจกรรมทางสังคม ที่สำคัญในช่วงโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงให้ผู้ป่วยทราบข้อมูลข่าวสารของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต เป็นต้น

ศ.พญ.นันทิกา กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า “การปรับสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และส่งผลต่อผู้ดูแล โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้เป็นอันตรายแก่ผู้ป่วย เน้นการปรับเปลี่ยนห้องให้คล้ายของเดิมที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผนังห้องให้ใช้สีอ่อนเพื่อเพิ่มความสงบ-อบอุ่น ส่วนผนัง-ประตูควรเพิ่มความต่างของสีให้เด่นชัด พื้นบ้านไม่ควรเป็นพื้นที่ลื่น ควรจัดและเลือกใช้เทคโนโลยีในการช่วยดูแลผู้ป่วย เช่น เครื่องมือที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสาร, การควบคุมกำกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า, GPS บอกสถานที่และการค้นหา, Home care robots ช่วยงานบ้าน เตือนการรับประทานยา หรือติดต่อแพทย์เมื่อต้องการความช่วยเหลือ, Home monitoring devices เปิด ปิด ไฟ ปรับอุณหภูมิ จากที่ไกล, In home camera กล้องวงจรปิด, การจัดการเรื่องยา pillbox , alarm, Picture phones และ Reminder messages วันนัด เวลาทำกิจกรรม เป็นต้น”

ด้าน ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การอบรมออนไลน์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของ TCELS ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย โดยที่ผ่านมา TCELS ได้ส่งเสริมงานด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มเครื่องมือแพทย์ ตั้งแต่รากฟันเทียม สู่ข้อสะโพกเทียม หุ่นยนต์ทางการแพทย์ งานด้าน AI งานที่ส่งเสริมสารสกัดธรรมชาติสู่เสริมอาหารบำรุงสมอง กลีบบัวแดง พรมมิ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการพัฒนา แอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกสมองด้านต่างๆ เช่น ด้านความจำ “memo gaming” ด้านการคำนวณ “Calcool Gaming” และปัจจุบัน ด้านภาษา “pasa gaming” โดยสามารถค้นหา และดาวน์โหลดได้แล้วผ่าน PlayStore ในระบบ Android และ AppStore ในระบบ iOS ได้แล้ว ทั้ง 3 แอปพลิเคชัน และในอนาคต TCELS จะมีการนำเอาความรู้ และเทคโนโลยี ทางการแพทย์แบบองค์รวมมาใช้เพื่อพัฒนางานบริการสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์กันการพลัดหลง หรือแม้แต่ต้นแบบอุปกรณ์ที่ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุเพื่อประโยน์ทางการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการใช้ค้นหาสารสกัดธรรมชาติ พัฒนาไปเป็นตัวยาใหม่ๆ หรือแม้แต่ต้นแบบอุปกรณ์ทางเครื่องมือแพทย์ที่อำนวยความสะดวกด้านการรักษา เป็นต้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากได้ร่วมกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย แล้ว ทางทีเซลส์ ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ได้แก่ หน่วยงานเครือข่ายเชียงใหม่และ Medicopolis เชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ, องค์การเภสัชกรรม และ ผลิตภัณฑ์กางเกงอนามัยผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ Certainty ซึ่งล้วนแต่มุ่งหวังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อลดภาระของผู้ดูแลและครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ ให้ก้าวผ่านปัญหาไปได้ด้วยดี

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *