กรุงเทพฯ ผงะ! เปิดผลสำรวจความรุนแรงคนเพิการ ถูกกระทำอื้อ ชีวิตเผชิญความเสี่ยงนับไม่ถ้วน หนึ่งคนโดนรวดเดียว 7 ลักษณะ ขณะที่ตัวเลขข้อมูลชี้น่าวิตก โดยรวมคนพิการ 34 คน ถูกกระทำรุนแรงถึง 54 ลักษณะ โดนด่า รังเกียจ สาปแช่งหนักที่สุด ด้านนักวิจัยจี้รัฐเสริมศักยภาพ PA (ผู้ช่วยคนพิการ) มือสแกนต้นทางเหตุผิดปกติก่อนบานปลาย แนะช่องปลดล็อก ชุมชน – ท้องถิ่น ต้องเป็นหูเป็นตา ตัดไฟแต่ต้นลม ด้านอธิบดี พ.ก. ปลุกหน่วยงานรัฐ โมเดลต้นแบบเปิดโอกาสคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น วอนเลิกจำกัดแค่วุฒิการศึกษา แต่ต้องให้ตามทักษะ ความถนัด กระตุกอย่าตาบอดเสียเองจนมองไม่เห็นศักยภาพ ต้องปรับมายเซ็ต (Mindset) ไม่ใช่ภาระ แต่มีพลังหนุนเสริมสังคม
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) จัดเวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ภายใต้โครงการ “การพัฒนากลไกเพื่อจัดบริการที่เป็นมิตรแก่เด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ” ทั้งนี้ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของ สสส. ระยะ 5 ปี (2566 – 2570) ภายใต้ห่วงโซ่ผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพ มีด้วยกันหลากหลายประเด็น ประกอบด้วย (1) ศึกษาและผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (2) สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและอื่น ๆ (3) ทบทวนและพัฒนาองค์ความรู้/นวัตกรรม/หลักสูตร/กระบวนการเพื่อพัฒนาในประเด็นที่เป็นจุดเน้นของการพัฒนาคนพิการ
นางภรณี ระบุต่อว่า (4) พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายระดับต่าง ๆ รวมถึง สร้างความเข้าใจต่อเครื่องมือและกระบวนการต้นแบบที่ สสส. ได้พัฒนาไว้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ขยายผล (5) สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลคนพิการ ในรูปแบบที่เข้าถึงและใช้งานได้สะดวก (6) สนับสนุนให้เกิดกลไกในการติดตามประเมินผลและหนุนเสริมการดำเนินงานของภาคีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (7) สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมตามประเภทความพิการและตามช่วงวัย อาทิ ทักษะในการดำรงชีวิต การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง การเตรียมความพร้อมทำงานหรือประกอบอาชีพหรือยกระดับฝีมือ และ (8) รณรงค์สื่อสารสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติของคนพิการ ครอบครัว และสังคม ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่าง ๆ
“สสส. ร่วมสนับสนุนและทำงานประสานร่วมกันกับทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และภาคีที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว โดยทาง สสส. มีจุดเน้นในการทำงานในประเด็น (1) การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (2) การส่งเสริมการจ้างงานและประกอบอาชีพของคนพิการ (3) การสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ของคนพิการ และ (4) การพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปให้มีสมรรถนะการบริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายสอดรับกับ พก. คือ คนพิการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต อาชีพ รายได้/เงินออม การศึกษา/การเรียนรู้ สังคม และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” นางภรณี ระบุ .
ขณะที่ รศ.ดร.บุญเสริม หุตะแพทย์ นำเสนอ (ร่าง) รายงานผลการสำรวจสถานการณ์คนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี (นำร่อง) ปี 2566-2567 ระบุว่า ผลการสำรวจ คนพิการส่วนใหญ่ หรือจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งทั้งหมดเป็นผู้หญิง และเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยพิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย และมีคนพิการจำนวนหนึ่งที่พิการซ้ำซ้อน คนพิการจำนวนมากที่สุดเป็นโสด เกือบทั้งหมดมีลูกหลาน และเป็นมารดา/บิดาของคนพิการ คอยดูแล โดยยังมีคนในชุมชนที่ช่วยเหลือคนพิการ ได้แก่ อสม./อพมก./อสส. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยคนพิการเกือบทั้งหมดไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุดมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีหนี้สิน คนพิการส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำงานและเงินสวัสดิการจากเบี้ยคนพิการ ทั้งนี้ คนพิการเกือบทั้งหมดมีบัตรคนพิการ และมีจำนวนหนึ่งยังอยู่ระหว่างการขอทำบัตรประจำตัวคนพิการต่อไป
รศ.ดร.บุญเสริม ระบุว่า คนพิการเกือบทั้งหมดรู้สึกว่าตนเองมีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ขณะที่คนพิการอีกจำนวนหนึ่งคิดว่าพื้นที่ในบ้าน ที่คนพิการอาศัยอยู่กับคนในครอบครัว และบ้านญาติของคนพิการไม่ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในชุมชนมีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังเห็นว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง มากที่สุดเป็นพื้นที่นอกบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนพิการไปใช้บริการ
“ทั้งนี้ ความเข้าใจและประสบการณ์ความรุนแรงของคนพิการ ในภาพรวม คนพิการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างราว 1 ใน 3 มีความเข้าใจลักษณะของความรุนแรงฯ ได้อย่างถูกต้อง โดยคนพิการจำนวนมากที่สุด มีความเข้าใจลักษณะของความรุนแรงในการคุกคามผ่านสื่อโซเชียล แต่ยังมีคนพิการจำนวนน้อยที่สุดเข้าใจความรุนแรง ในลักษณะของการละเลยหรือไม่สนับสนุน และการละเมิดทางการเงินและทรัพย์สิน” รศ.ดร.บุญเสริม ระบุ
รศ.ดร.บุญเสริม ชี้ด้วยว่า คนพิการเกือบทั้งหมดระบุ ว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีประสบการณ์การถูกกระทำรุนแรง ในทุกลักษณะ โดยมีคนพิการเพียงราว 1 ใน 6 (หรือร้อยละ 17.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) เท่านั้น ที่ระบุว่าถูกกระทำรุนแรงลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อย่างน้อย 1 ลักษณะ และในจำนวนนี้มีคนพิการคนหนึ่งที่ถูกกระทำรุนแรงมากที่สุดถึง 7 ลักษณะ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนพิการจำนวนมากที่สุดถูกกระทำรุนแรงในลักษณะของการบ่น ด่า แสดงความรังเกียจ สาปแช่ง และมีคนพิการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกกระทำรุนแรงจากการที่คนในครอบครัวไม่จัดอาหารให้ หรือจัดอาหารไม่เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ
“และยังมีคนพิการในจำนวนที่เท่ากันที่ถูกคนในครอบครัวกระทำรุนแรงใน 4 ลักษณะคือ (1) ใช้ กำลังทำร้ายร่างกาย เช่น ตบ เตะ ต่อย หยิก ตี จับกดน้ำ ฯลฯ (2) ไม่แสดงความรัก ความห่วงใย เมินเฉย ปล่อยปละ ละเลย (3) ทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง หรือปล่อยให้อยู่กับคนอื่นเมื่อเจ็บป่วย และ (4) ไม่พาไปหาหมอ ไม่รักษา ทั้งนี้ มีคนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงทางวาจาหรืออารมณ์/จิตใจ มากที่สุดถึง 8 ลักษณะ ขณะที่มีคนพิการระบุว่าถูกกระทำความรุนแรงด้านเพศ น้อยที่สุด (จำนวน 2 ราย) ใน 1 ลักษณะ คือ ถูกคนรู้จัก/เพื่อน/ครู ซึ่งเป็นคนอยู่นอกครอบครัว สัมผัส ลูบคลำเนื้อตัวร่างกาย และเปลื้องผ้า และเมื่อจำแนกข้อมูลลักษณะของความรุนแรงที่คนพิการการถูกกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยรวม มีคนพิการ จำนวน 34 คนถูกกระทำรุนแรงถึง 54 ลักษณะ” รศ.ดร.บุญเสริม ระบุ
รศ.ดร.บุญเสริม กล่าวว่า สิ่งที่ค้นพบ คือ เราได้เห็นความรุนแรงที่พวกเขาต้องเผชิญ เห็นจำนวน และข้อมูล มี 2 ราย ใน 200 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ แต่สถานการณ์ความเป็นจริง อาจจะมีมากกว่านั้น แต่ซ่อนอยู่ ซึ่งข้อสังเกต คือ หากคนพิการบอกว่าไม่รู้ ไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ นี้คือความรุนแรง ฉะนั้นจึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องความรุนแรงกับคนพิการ และคนที่อยู่รอบข้างเขาด้วย เช่น คนในครอบครัว ขณะที่ PA คนทำงาน ต้องมีการจัดการให้ความรู้กับเขาเรื่องความรุนแรง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ละเลยไม่ได้ คนทั่วไป ป้องกัน เยียวยา แต่คนพิการ มันยากขึ้นกว่านั้นอีก เมื่อคนพิการถูกกระทำ เช่น คนพิการทางสายตา คนหูหนวก ถูกกระทำจากคนในครอบครัว
“ในผลงานวิจัย มี 34 คน คิดเป็น 17 เปอร์เซนต์ ถูกกระทำความรุนแรงจำนวน 54 ลักษณะ ซึ่งเป็นการถูกกระทำหลายอย่าง ขณะที่น่าตกใจคือมีข้อมูลพบด้วยว่า มีคนหนึ่งถูกกระทำถึง 7 ลักษณะ นี้คือความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย ถ้า PA เขาสแกนได้เร็วถึงความผิดปกติ เห็นความรุนแรง หรือคนในชุมชน อบต. สังเกตเห็น จะช่วยได้ทัน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ทะเลาะกัน ถ้าไม่แจ้ง ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ขณะที่คนในครอบครัว ผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะพึ่งพิง บางครอบครัวเขาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ เบี้ยคนพิการ ลูกหลานก็เอาไปใช้ ปัญหามันซ้อนทับ ความรุนแรง มันอาจไม่รู้สึกว่ารุนแรง เพราะต้องอดทนไป อยู่กันไป เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ หลายหนก็ไม่ไหว” รศ.ดร.บุญเสริม ระบุ
รศ.ดร.บุญเสริม ระบุทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญ คือ คนในชุมชน ต้องช่วยกันการปกป้อง ดูแลคนพิการ ที่ผ่านมาก็ยังถือว่าน้อยอยู่ คนในชุมชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ส่วนในเรื่องสวัสดิการ หน่วยงานรัฐก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม ส่วนหน้าที่คุ้มครอง พม. ต้องมีนโยบาย เช่น ต้องผลิต พัฒนาศักยภาพ PA ให้เป็นช่องทางช่วยแบ่งเบา และร่วมทำงานควบคู่ไปกับ อสม. อพมก. ซัพพอร์ตกัน พม. ต้องตื่นตัวในการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะ ให้คนทำงาน มีการอัพเกรด PA ด้านความรู้ สวัสดิการ หรือ จิตอาสา ช่วยสังคม ซึ่งต้องทำอย่างจริงจัง ตอนนี้เอ็นจีโอก็ทำงานนำร่องมาแล้วในเรื่องข้อมูลความรุนแรง ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญมากคือเรื่องของทัศนคติต่อปัญหาความรุนแรง สังคม กลุ่มเป้าหมาย อย่ามองว่าไม่มีปัญหา ซึ่งความจริงคนพิการเผชิญความรุนแรงรายวัน สังคม ชุมชน ต้องอย่ามองว่าไม่เป็นปัญหา
ขณะที่นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ระบุว่า หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ กรมฯ ทำงานขับเคลื่อน คือ การเสริมพลังคนพิการ ต้องมองว่า คนพิการไม่ใช่ภาระ แต่มีพลัง ต้องส่งเสริมไม่ใช่แค่การฟื้นฟูสมรรถนะ ซึ่งในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ชัดเจน ส่งเสริมพัฒนา และการสร้างความเข้าใจ คนพิการไม่ใช่ปัญหา หรือกาฝาก หรือถูกความเชื่อผิดๆ ว่าโชคร้าย จนนำมาซึ่งการกระทำ หรือการเลือกปฏิบัติ กีดกัน จำกัดสิทธิ ทอดทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อเหล่านี้ของคนในสังคม
อธิบดี พก. ระบุด้วยว่า ในการกระบวนการทำงานหนุนเสริมของ กรมฯ ได้แบ่งคนพิการออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 แข็งแรง เป็นผู้นำ กลุ่มนี้จะเป็นเสริมพลังไปสู่การเป็นต้นแบบ ส่งเสริมศักยภาพ กลุ่มที่ 2 พัฒนาได้ สามารถส่งเสริมทักษะ หรือสกิล เพิ่มเติมเต็มให้เขาได้ เพื่อสร้างอาชีพ ตามความถนัด ทักษะ ความสามารถ เข้าสู่ตลาดแรงงานรัฐ เอกชน และกลุ่มที่ 3 กลุ่มติดเตียง ต้องดูแล ต้องมีการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ซึ่งการทำงานเมื่อจำแนกชัดเจนได้แล้วทั้ง 3 กลุ่ม ก็ดำเนินการสู่การขับเคลื่อนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุน ผู้พิการ ทั้ง 3 กลุ่มไปยังกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน ตรงเป้า ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกรมฯ
“ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า คนพิการยังต้องเผชิญสถานการณ์ความรุนแรง และความรุนแรงมีแนวโน้มเกิดต่อเนื่อง ทั้งเรื่องความรุนแรงทางเพศ การถูกทอดทิ้ง ไม่เข้าใจ ความพิการ การต้องเผชิญสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว หรือโดนกระทำในที่ทำงาน บริษัท ซึ่งมีหลายเรื่อง ยังขาดความเข้าใจ หรือรู้สิทธิ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของ กรมฯ คือ การสร้างเครือข่าย ช่องทางการ การสื่อสาร การเข้าถึงช่องทางบริการของรัฐ โดยเฉพาะคนที่อยู่หน้างานโดยตรงอย่าง ครอบครัว ผู้ดูแล การทำงานต้องมียุทธวิธี กลยุทธ์ ในการช่วยเหลือ ออกแบบ ครอบครัว ผู้ช่วย ผู้ดูแล พัฒนาทักษะแต่ละมิติ มีค่าตอบแทน มีการเทรน ระยะสั้น และความเข้าใจ ในการเข้าถึงช่วยเหลือคนพิการ” อธิบดี พก.ระบุ
อธิบดี พก. ระบุว่า ปัจจุบัน กรมฯ มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยเหลือคนพิการ (อพมก.) ดูแลคนพิการในชุมชน ซึ่งเป็นจิตอาสา หรือ หากมีความสนใจก็สามารถสมัครเข้าร่วมเป็น อพมก. ได้ที่จังหวัด โดยจะได้รับการอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ความเข้าใจของอาสาสมัครฯ ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น PA หรือ ผู้ช่วยคนพิการได้ แต่ต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะความรู้ของ PA ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้บุคคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อธิบดี พก. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์คนพิการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยอดคนพิการทั่วประเทศโดยประมาณ 2,283,502 คน ในส่วนสวัสดิการของผู้พิการ สาระสำคัญ คือ ขณะนี้คนพิการได้สิทธิประโยชน์ทั้งเป็นเงินแต่ละเดือน และรวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้ตีค่าออกมาเป็นตัวเลขเงิน นอกเหนือจากเงินที่เข้ากระเป๋า เบี้ยผู้พิการ 800-1,000 บาท จ่ายตามเกณฑ์อายุผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปี และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเบี้ยคนพิการ 800+200 บาทต่อเดือน ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดให้ รวมทั้งการกู้ยืมเงิน ซึ่งมีผู้พิการในขณะนี้กู้ยืมเงิน 2 แสนกว่าราย นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพ เครือข่ายอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“หัวใจสำคัญ คือ ไม่ใช่แค่ เจตคติ หรือเพียงแค่สงสาร แต่ต้องไปถึงการปรับมายเซ็ตว่า เขาไม่ใช่ภาระ แต่มีพลัง ที่จะต้องให้โอกาส เราอย่าเป็นคนตาบอดทั้ง ๆ ที่ตาเราไม่ได้บอด เราต้องทำความเข้าใจ เปิดใจ เปิดโอกาส และปรับเปลี่ยนความคิดในสังคม การจ้างงาน หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนมายเซ็ต ทึ่เรียกเอาแต่วุฒิการศึกษา แต่ต้องจ้างตามทักษะ ความรู้ ความสามารถ ถ้าเอาแต่เรียกวุฒิการศึกษามันก็เหมือนปิดโอกาส ต้องใช้เกณฑ์ทักษะ ความถนัด มากว่า” อธิบดี พก. ระบุ
อธิบดี พก. กล่าวว่า กฎหมายระบุไว้ชัดเจน หลักเกณฑ์ในการจ้างหลัก ๆ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด เข้าทำงาน สัดส่วนของการรับ คือ ลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน
“อยากจะสื่อสารว่า ต้องให้โอกาสคนพิการ ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐ กระทรวง ที่จ้างคนพิการเกือบทุกหน่วย นั้น คือ กระทรวง พม. กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีคนทำงานประจำอยู่ทุก กรมฯ และจ้างเกินอัตราด้วย ผมขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ กระทรวงต่าง ๆ ทำเป็นต้นแบบ แต่ละกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ขยับพื้นที่ให้กับคนพิการ จ้างงานตามทักษะ ความถนัด แทนคุณวุฒิการศึกษา เพราะการศึกษาภาคบังคับมันยาก ระดับคุณวุฒิการศึกษา ที่ผ่านมาเรามีตัวเลขที่สำรวจ คนพิการกว่า 8 แสนคน ที่ขึ้นทะเบียนรองาน มีเพียงแค่ 5 หมื่นกว่าคนที่เข้าทำงานได้ ซึ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญ และหน่วยงานรัฐต้องเป็นหน่วยงานที่ให้โอกาส เปิดพื้นที่ หน่วยงานรัฐต้องเป็นโมเดลต้นแบบจ้างงานคนพิการ ตามทักษะ และความถนัด” นายกันตพงศ์ อธิบดี พก. ระบุ.