ยอดเยี่ยม! นักศึกษาม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัล จากเวที Build On Thailand 2020

นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ทีม Neos เจ้าของผลงานแอปพลิเคชัน SP-TW คว้ารางวัล 2nd Runner-up และรางวัล Best Innovation Award จากเวทีการประกวดแข่งขัน Build On Thailand 2020 พร้อมได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติงาน Build On, ASEAN 2020 ในเดือนตุลาคม 2563 นี้

อาจารย์จงสุข คงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางหลักสูตรนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์ ได้ส่งนักศึกษา จำนวน 4 ทีม ประกอบด้วย ทีม Neos ทีม Victoria ทีม 404 Not Found และ ทีม Windows 34#Hackathon เข้าร่วมการแข่งขัน Build On Thailand 2020 บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จัดโดย AWS Educate ซึ่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ได้ประกาศผลรอบชิงชนะเลิศออกมาแล้ว ผลปรากฎว่า นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ทีม Neos ซึ่งประกอบด้วย นายฮัมดี นาเซ็ง นายจิรเมธ อยู่คะเชนทร์ นางสาวประวีณพร มธุรส นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และนายวัญดี เจ๊ะแน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรสถาปัตยกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เจ้าของแอปพลิเคชัน SP-TW (Smart Plague Tracking and Warning) Application โดยมีทีมคณาจารย์ของหลักสูตรเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัล 2nd Runner-up และรางวัล Best Innovation Award มาได้สำเร็จ ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 1,000 และ 250 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
พร้อมได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ ร่วมกับทีมนักศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในงาน Build On, ASEAN 2020 ช่วงเดือนตุลาคม 2563 อีกด้วย

“หลักสูตรนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาทีม Neos หลักสูตรของเราพร้อมสนับสนุนและกระตุ้นนักศึกษาให้ได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ประสบการณ์การทำงานจริง ภายใต้การสนับสนุนจากทีมคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เชื่อว่านักศึกษาจะสามารถนำความรู้จากห้องเรียนไปใช้งานได้จริงอย่างแน่นอน” อาจารย์ จงสุข กล่าว

ด้าน น้องดี นายฮัมดี นาเซ็ง ในฐานะหัวหน้าทีม Neos กล่าวว่า ทีม Neos ได้นำเสนอแอปพลิเคชัน SP-TW ซึ่งเป็น Application ติดตามและแจ้งเตือนผู้ใช้บริการของธนาคารกรุงไทย ถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid -19 จากการใช้บริการตู้ ATM ร่วมกับผู้ใช้ที่ติดเชื้อ โดยใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย ร่วมกับข้อมูลผู้ติดเชื้อของกรมควบคุมโรคเพื่อรับข้อมูลรายชื่อผู้ติดเชื้อ และทำการค้นหาข้อมูลผู้ที่ใช้บริการตู้ ATM เดียวกันในระยะเวลาเดียวกัน และระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แล้วดำเนินการแจ้งถึงความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อ พร้อมแนะนำตู้ ATM อื่นๆ ที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน มีความสะดวกที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องแจ้งข้อมูลหรือลงชื่อใดๆในการใช้บริการ แต่แอปดังกล่าวจะทำการดึงข้อมูลของธนาคารและกรมควบคุมโรคมาดำเนินการเองอัตโนมัติ

“รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลนี้ ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันรายการนี้ทำให้เรารู้ว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สามารถนำความรู้จากในห้องเรียนมาใช้ในการทำงานจริงได้ โดยเฉพาะในเรื่องของ Design Thinking หรือ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังทำให้รู้ถึงกระบวนการขายไอเดียของเราว่า จะขายยังไงให้ตอบโจทย์ลูกค้า การออกแบบระบบยังไงให้ข้อมูลปลอดภัย ออกแบบหน้าตาแอปพลิเคชันของเราให้น่าสนใจ ตลอดจนได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนต่างสำนักวิชา ทั้งนี้ผมและสมาชิกในทีมทุกคน ขอขอบคุณคณาจารย์ในหลักสูตรทุกคนที่ช่วยผลักดัน ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเป็นอย่างดี ในอนาคตเราอยากพัฒนาแอปพลิเคชัน SP-TW ให้รองรับโรคระบาดได้อย่างหลากหลาย นำ AI มาคาดการณ์เพื่อความแม่นยำ รวมถึงรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” นายฮัมดี กล่าว

ทั้งนี้ การแข่งขันแฮกกาทอน (hackathon) Build On, ASEAN 2020 เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ระดมความคิดใหม่ๆ ทำเป็น Proposal ข้อเสนอทางธุรกิจ ไอเดียใหม่ๆ โดยการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เดิมโครงการนี้ได้มีจัดขึ้นในสิงคโปร์และมาเลเซียมาแล้วเมื่อปี 2019 และกำลังขยายการแข่งขันเพื่อครอบคลุมประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *