สำรวจผลกระทบหลัง COVID-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษา​โลก

บทความโดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

    รอบปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบวงกว้างในหลายมิติทั่วโลก รวมทั้งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในหลายแง่มุม ตั้งแต่การปิดเรียน ปรับมาใช้การสอนผ่านกลไกต่าง ๆ ​ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาที่ทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน ​ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างเพิ่มมากขึ้น 

    แต่อีกด้าน ​COVID-19 กลายเป็นแรงผลักดันบังคับให้เกิดการปรับตัวและนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบการศึกษาใหม่ๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วยรูปแบบ​ที่แตกต่างกลายเป็นโมเดลใหม่ ๆ ที่สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วโลก 

    ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ใช้โอกาสช่วงสิ้นปี ประเมินสถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ 

การเรียนรู้ที่ลดลง 

ผลเสียต่ออนาคตของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 
​ 

     ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ห้องเรียนส่วนใหญ่ต้องถูกปิด แม้จะเปลี่ยนมาทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนในห้องเรียนได้ ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งการเรียนที่ต้องหยุดชะงัก ไปจนถึงความไม่พร้อมของผู้ปกครอง การขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน สุดท้ายทำให้เกิดความเครียดทั้งเด็กและครู 

     “สุดท้ายคือการที่เด็กมีการเรียนรู้ที่ลดลง (Learning Loss) ในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่เขาต้องอยู่บ้าน หรือขาดการทบทวนบทเรียนเป็นเวลานาน ความรู้ก็อาจจะหายไป นอกจากความรู้ที่หายไปแล้ว​ ยังอาจส่งผลต่อพื้นฐานความรู้ในด้านสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ในสังคม หลายประเทศก็พยายามแก้ปัญหา โดยการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มอินเตอร์เน็ต เทรนครูให้รับมือกับการเรียนการสอนแบบระยะไกล” 

การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน 

ผนึกกำลังท้องถิ่นแก้ปัญหาการศึกษาตามบริบทพื้นที่ 

    ดร.ภูมิศรัณย์ มองว่า ข้อดีในช่วงที่ผ่านมาคือการทำให้เกิดนวัตกรรมการเรียนการสอนทางไกลเป็นจำนวนมาก หลายอย่างเราเห็นว่ามีการทำได้ดี หรือมีครูที่สามารถทำได้ เขาได้คิดค้นวิธีการที่ดีๆ หลายอย่าง ทำให้เรารู้ว่าการศึกษาไม่ใช่เกิดขึ้นได้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์จำเป็นก็สามารถเกิดได้ทุกที่ ทั้งทางออนไลน์ หรือทางออฟไลน์ เช่น การส่งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน พร้อมคำแนะนำไปให้เด็กในพื้นที่ อย่างครูโรงเรียนบนดอยที่สมัยก่อนต้องขี่ม้าไปสอน ปัจจุบันอาจจะใช้รถโฟร์วีลหรือมอเตอร์ไซต์ หรือครูในเมืองก็มีการใช้รถพุ่มพวงการศึกษาที่มีหนังสืออุปกรณ์ออกไปสอนเด็ก ๆ หรือโครงการต่างๆ เช่น ของบ้านปลาดาวที่มีนวัตกรรมพวกกล่องการเรียนส่งไปให้นักเรียนในช่วง COVID-19 ซึ่งเป็นวิธีการต่าง ๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในช่วงเวลาวิกฤติได้ 

    “ที่สำคัญคือการทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้เห็นว่าผู้ปกครองหรือคนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นก็มีความใส่ใจต่อประเด็นการศึกษาของลูกหลานและเขาก็หาทางสามารถแก้ปัญหาท้องถิ่นในบริบทของเขาได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าสิ่งที่เราสั่งการจากส่วนกลาง เช่น นโยบายการศึกษา แนวปฏิบัติ อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับบริบทเสมอไป การปล่อยให้คนในท้องถิ่นได้คิดเองอาจได้ผลลัพธ์ หรือแนวทางการปัญหาที่คนในเมือง หรือนักการศึกษาจากส่วนกลาง​คิดไม่ถึง”​ 

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *