แกนนำเยาวชนยื่นนายก ค้านพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย เผยผลสำรวจปี 66 เยาวชนเป็นเหยื่อพนันออนไลน์แล้วเกือบ 3 ล้านคน พบ 1 ใน 4 เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ โวยรัฐไม่เคยจริงใจป้องกันแก้ไข ยังซ้ำเติมสร้างปัญหาเพิ่ม พร้อมร่วมกันวางดอกไม้จันทร์อาลัยนโยบายมอมเมาสังคม
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล แกนนำเยาวชนจากเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าโดยอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาพนันที่ผิดกฎหมาย นำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ หรือให้ทุนการศึกษา โดยในตอนท้ายของกิจกรรม เครือข่ายได้ร่วมกันวางดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความอาลัยต่อนโยบายมอมเมาทำลายสังคม ทำร้ายเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือแทน

นางสาววศิณี สนแสบ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวนโยบายให้การพนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 เพิ่มเติมนิยามของการพนันและการพนันออนไลน์ และให้เจ้าพนักงานสามารถอนุญาตจัดให้เล่นพนันออนไลน์ได้ พร้อมกันนี้ได้กำหนดอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดโทษแก่ผู้จัดให้เล่นและผู้เล่นพนันออนไลน์ และได้ดำเนินการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางอินเตอร์เน็ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มีความห่วงใยต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะมีตามมาหากนโยบายนี้มีผลปฏิบัติจริง ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงการพนันจำนวนมาก ดังข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 ที่พบว่ากลุ่มเด็ก เยาวชนอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ถึงประมาณ 739,000 คน นี่คือตัวเลขข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขใดๆจากรัฐบาลเลย

นางสาววาศิณี กล่าวต่อว่าเครือข่ายจึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายด้วยเหตุผล ดังนี้ 1. แนวนโยบายการนำสิ่งที่เคยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ มาทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ด้วยการใช้กระบวนการทางการเมืองแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทำได้ โดยหวังสร้างรายได้ให้แก่รัฐ เป็นความคิดที่เห็นแก่ได้และน่าละอาย เพราะเห็นชัดเจนในเจตนาว่าต้องการเพียงแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น โดยมิได้คำนึงถึงผลเสียทางสังคมที่จะเกิดตามมาในระยะยาว 2. การอ้างว่าเมื่อรัฐมีรายได้จากกิจการพนันบนดินดังกล่าว แล้วจะนำรายได้มาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เช่น เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ยากไร้ ความคิดเช่นนี้เปรียบเสมือนการเอาอนาคตของเด็กเยาวชนมาเป็นเครื่องต่อรองอย่างไร้ความรับผิดชอบ และไร้แนวทางที่สร้างสรรค์ และ 3. การอ้างว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในครั้งนี้มีการเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ที่เปรียบเสมือนการใช้ยาแรงเพื่อจัดการโรคร้าย เป็นการคิดฟุ้งฝันที่ปราศจากการคำนึงถึงความเป็นจริงว่า การที่การพนันออนไลน์แพร่ระบาดอย่างมากในปัจจุบัน มีต้นเหตุหนึ่งที่สำคัญมาจากการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าพนักงาน ดังนั้น การเพิ่มโทษดังกล่าว จึงอาจเปรียบเสมือนการมอบยาแรงให้แก่หมอเถื่อนที่อาจจะนำยานี้ไปใช้อย่างมิชอบ เครือข่ายเยาวชนหวังว่านายกรัฐมนตรีจะทบทวนแนวนโยบายดังกล่าว” นางสาววศิณี กล่าว

ด้านนายบดินทร์ชัย บุญปก แกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ม.รามคำแหง กล่าวว่าตนมีโอกาสได้เจอคนที่ติดพนันออนไลน์จนเสียผู้เสียคน และพบว่ามันยากมากที่จะออกจากวงจร กลายเป็นคนที่ชอบโกหกสร้างเรื่อง หลอกลวงและจบลงด้วยการปล้นจี้ สุดท้ายก็ถูกจับสิ้นอิสระภาพ ส่วนตัวไม่เชื่อเลยว่าการมีพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย หรือกาสิโนถูกกฎหมายแล้ว มันจะทำให้พนันออนไลน์ หรือบ่อนพนันเถื่อนจะลดลงหรือหายไปอาจจะชะงักไปช่วงหนึ่งบ้างแต่หลังจากนั้นทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ประชาชนไม่เชื่อมั่นสิ่งที่รัฐทำ ดูอย่างสลากกินแบ่งรัฐบาลที่อ้างว่าต้องพิมพ์เพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาสลากแพง พิมพ์เพิ่มจาก 30 ล้านฉบับ จนเป็น 100 ล้านฉบับสุดท้ายสลากก็ยังราคาแพงอยู่ดี มันเป็นเพียงข้ออ้างที่ตั้งใจจะมอมเมากันมากกว่า
“เรื่องนโยบายพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ตนใคร่ขอโอกาสนี้เรียกร้องต่อรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยเฉพาะรัฐมนตรีผู้ดูแลกระทรวงด้านสังคม อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและพัฒนานวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ขอให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อแนวนโยบายนี้ เพื่อแสดงถึงความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดตามมาจากการตัดสินใจเห็นชอบกับแนวนโยบายทำลายสังคม ทำร้ายเด็กและเยาวชน”นายบดินทร์ชัย กล่าว