สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC จัดเสวนารวมตัวนักสร้างสรรค์ผลิตคอนเทนต์ผ่านสื่อออนไลน์ Influencer, Content Creator, TikToker, Youtuber, สื่อมวลชน เจาะประเด็นสงสัย “PDPA กับ CONTENT CREATOR” ด้วยแกนหลัก “ป้องกัน-ระวัง-เข้าใจ” #ตะโกนให้โลกรู้ข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญที่สุดโดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เป็นวิทยากร พร้อมตัวแทนทีมงานจากช่อง อาสาพาไปหลง คุณสิทธิศักดิ์ ศรีสำราญ โปรดิวเซอร์ และ คุณณัฐนนท์ มุกดา ครีเอทีฟ รวมไปถึง คุณรัชนีกร ค่องสกุล จากช่อง จูนพากิน ผู้ผลิตคอนเทนต์ร่วมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมี คุณกุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้ได้รับการตอบรับจากแฟน ๆ ร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง โดยรับชมผ่าน LIVE สดในช่องทาง Facebook : PDPC Thailand จาก True 5G Pro Hub ศูนย์การค้าสยามดิสคัพเวอรี่ ชั้น 4
งานนี้เปิดการสนทนาว่าด้วยเรื่องกฎหมาย PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่หลาย ๆ คน ยังคงมีข้อสงสัยอยู่ โดย คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ได้อธิบายให้เข้าใจว่า “กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายที่มารองรับสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ ภาพต่าง ๆ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกิจกรรมรูปภาพแอคทิวิตี้ต่าง ๆ ถ้าใครจะเอาข้อมูลไปใช้ จะมีการเก็บรวบรวม เหมือนดังกรณีสองรายการ อาสาพาไปหลง และ จูนพากิน เก็บข้อมูล นามบัตร คุกกี้ อะไรต่าง ๆ ไม่ว่าจะวิธีการใด ๆ เดิมมันไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะบอก กฎหมายฉบับนี้บอกทุกอย่างยังคงใช้ได้เหมือนเดิม แต่การใช้นั้นกฎหมายมารองรับว่า ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทย ถ้าใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย กฎหมายก็ระบุเงื่อนไขว่า ไม่มีข้อตกลง ไม่มีสัญญา ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ไม่เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ กฎหมายฉบับนี้ บอกว่า…คุณมีกรอบนะ กรอบข้อมูลส่วนบุคคล คนธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่เด็กที่เพิ่งเกิด ถ้ายังมีชีวิตอยู่ กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองบุคคลธรรมดา สามารถใช้สิทธิในการขอลบ สามารถใช้สิทธิในการร้องสิทธิต่าง ๆ ที่กฎหมายให้มา กฎหมายฉบับนี้เข้ามาช่วยได้เยอะ ในกรณีทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ถ้าคอนเทนต์เกิดไปติดคน ๆ นั้นมา เดิมการสร้างคอนเทนต์เป็นการสร้างมูลค่าให้กับทางเว็บของคุณ เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่มันมีกฎหมายฉบับนี้มา สร้างได้เหมือนเดิมนะ แต่จะต้องไม่สร้างความเสียหายให้ใคร นี่คือคอนเซ็ปต์กฎหมาย PDPA”
โดย คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ เปิดเผยต่อว่า กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่างประเทศมีมานานแล้วกว่า 30 ปี กฎหมายไทยก็มีในลักษณะการคุ้มครองข้อมูลเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในปี 2562 เรายังขาดกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ กระแสโซเชียลมีเดีย มันมีค่อนข้างเยอะ ดังนั้นใช้ข้อมูลส่วนบุคคล แชร์ผ่านเฟซบุ๊กโซเชียลมีเดีย, ยูทูปเบอร์ ในกรณีเสนอในรายการ มันต้องเกี่ยวกับคนอยู่แล้ว ก็ต้องมีภาพ เสียง พฤติกรรมของเขา กฎหมายฉบับนี้ ในสหภาพยุโรปถ้าโฟลว์ออฟเดต้า หรือข้อมูลส่วนบุคคลมันหมุนเร็วขนาดนี้ จากที่หนึ่งไปถึงที่หนึ่งค่อนข้างเร็ว ไม่กี่มิลลิวินาที ควรจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่คุ้มครองโดยเฉพาะ กฎหมายไทยก็มองว่า ในเรื่องนี้เราต้องทันสมัย ซึ่งในประเทศของเรา ร่างเป็น พ.ร.บ.เลย ก็ให้สิทธิ พวกเราคือ เวลาคนไม่ลบ เวลาข้อมูลต่าง ๆ อยู่ในยูทูป ในเฟซบุ๊ก รูปเรา เขาไม่ลบ เราต้องทำใจ แต่กฎหมายฉบับนี้ มันให้กลไกของคณะกรรมการกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ซึ่งผมเป็นอยู่ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐ เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วร้องเข้ามา กฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในการออกโทษปรับในทางปกครอง และกฎหมายฉบับนี้เดิมเป็นแพ่ง เดิมได้บอกว่าถ้าเป็นข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ เช่น พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของเรา ข้อมูลพวกนี้ เรียกว่า ข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ ถ้ามีการไปแชร์ให้เป็นโทษทางอาญา กฎหมายก็มีกลไกของอาญา ซึ่งตรงนี้จะเป็นโทษทางอาญา เฉพาะข้อมูลที่อ่อนไหวพิเศษเท่านั้น เพราะตอนนี้มีปัญหาร้องเข้ามายังคณะกรรมการเยอะมากครับ”
“ในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น ชอบทานอะไร ชอบเที่ยวอะไร เสียง รูปภาพ ทะเบียนรถ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หมายเลขบัตรประชาชน ที่ระบุตัวตน รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงเทคนิคอื่น ๆ เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก การเล่นอินเทอร์เน็ต อีเมลแอดเดรส ลายนิ้วมือ ฯลฯ เป็นข้อมูลทั่วไป แต่ยังมีข้อมูลประเภทอ่อนไหวพิเศษ ที่เปิดเผยแล้วเจ้าของข้อมูลจะเกิดผลเสียหาย เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติความชื่นชอบทางเพศ ข้อมูลสุขภาพโรคร้ายบางอย่าง ฯลฯ ผู้เสียหาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้ ในกรณีเข้าร้องขอแล้วเขาไม่ลบ”
ในขณะที่ “สื่อมวลชนกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์” เรื่องการคุ้มครอง PDPA ก็ใช้ต่างกัน คุณไพบูลย์ เล่าเสริมในเรื่องนี้ว่า “กฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช้กับสื่อมวลชน เหตุที่ไม่ใช้กับสื่อมวลชน ช่อง 3-5-7-9 และอื่น ๆ เพราะถ้าเป็นสื่อมวลชนที่ขึ้นทะเบียนสื่อ หนึ่งคือการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องมีหลักแหล่ง สองคือ มีส่วนของประมวลจริยธรรม ว่าคุณมีมาตรการในการสกรีนเซ็นเซอร์งานต่าง ๆ มีกองเซ็นเซอร์ ถ้ามีการขึ้นทะเบียน มีประมวลจริยธรรม มีสังกัดชัดเจนแน่นอน กฎหมายบอกว่า “ไม่ใช้” ถ้าใช้ภาพข้อมูลเพื่อรายงานข่าว เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ก็มีเหตุการณ์สื่อมวลชนนำข้อมูลไปใช้ก็มีปัญหาบ่อย เช่น อาชญากรรม บันเทิง ที่เอาภาพบุคคลไปโพส ถามผิดกฎหมายฉบับนี้มั้ย? ผิด แต่การนำเสนอข่าว ยกเว้นเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ สื่อมวลชนทำหน้าที่เหมือนเป็นคนที่ระวังสังคม สื่อมวลชนจึงถูกยกเว้น แต่ต้องมีทะเบียน ต้องมีประมวลจริยธรรม แต่สื่อมวลชนไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ต้องอยู่ในประมวลจริยธรรม ในขณะที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ทุกวันนี้ไม่มีสังกัด หรือ ทางอาสาพาไปหลง และ จูนพากินเอง มีสังกัด มีประมวลจริยธรรม แต่ยังเป็นการควบคุมดูแลกันเอง”
ต่อข้อกล่าวถามในเรื่องของกฎหมาย PDPA ทีมงานช่อง อาสาพาไปหลง และ คุณจูน ช่อง จูนพากิน ได้เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังมีการใช้กฎหมายนี้ว่า ณัฐนนท์ มุกดา ครีเอทีฟ ช่อง อาสาพาไปหลง เล่าว่า “ตอนในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายตัวนี้ออกมา ด้วยความที่รายการเราเป็นรายการท่องเที่ยว การที่เราจะออกไปถ่ายทำและติดคน เป็นเรื่องปกติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะที่ ๆ เราไปมันคือ สถานที่ท่องเที่ยว แต่ในช่วงก่อนที่ยังไม่มีกฎหมาย PDPA ออกมา เวลาเราถ่ายอะไรเราก็สามารถเอามาใช้ได้ในความเข้าใจของเรา คือการออกไปเที่ยว โปรโมตการท่องเที่ยว เพื่อวัตถุประสงค์ในทางที่ดี ด้วยความที่เอกลักษณ์ของช่องคือ การที่พี่ว่านไฉ (อคิร วงษ์เซ็ง ผู้บริหารและพิธีกรช่อง อาสาพาไปหลง) จะมีการพากย์เสียง การไปถ่ายพี่คนขายตั๋ว หรือพี่คนที่เขาให้ข้อมูล เราจะมีการบอกกล่าวขออนุญาตอยู่ก่อนแล้ว ในการนำภาพไปใช้ในรายการ ซึ่งพอมีกฎหมายออกมา ทำให้เราตระหนักมากขึ้น มีการหาข้อมูล กฎหมายแบบนี้ในต่างประเทศใช้มาสักพัก ค่อนข้างเคร่งครัด เราก็มีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม ถ้าไม่ได้รับอนุญาตในการใช้ ก็จะปรับไปใช้รูปปั้น สัตว์ ฯลฯ แทนภาพ ๆ นั้น”
คุณสิทธิศักดิ์ ศรีสำราญ โปรดิวเซอร์ ช่องอาสาพาไปหลง “เวลาเราไปทำงานตามสถานที่ โลเคชั่นต่าง ๆ มันจะควบคุมไม่ได้ คนอาจจะเยอะ เราก็จะพยายามไม่ได้ไปถ่ายเจาะหน้าเขาจนเกินไป เน้นเก็บภาพกว้าง ตัดสินใจอะไรที่ไม่ได้-ไม่เจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่ง พยายามไม่เห็นภาพรวมมากกว่า ซึ่งเวลาถ่ายภาพติดบุคคลอื่น ๆ ก็จะมีน้องเข้าไปพูดคุยขออนุญาตกับบุคคลเหล่านั้นต่อ จะมีการใช้ภาพเหล่านี้ในรายการ ทำการขออนุญาตทันที ซึ่งเราเองก็มีความเข้าใจที่ดีการมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึกล้วนแล้วแต่เป็นการป้องกันตัวเองกับกลุ่มมิจฉาชีพต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น”
ในขณะที่ คุณจูน-รัชนีกร ค่องสกุล จากช่อง จูนพากิน กล่าวในมุมมองของตัวเอง “จูนทำงานเบื้องหลังมา และมาทำช่องของตัวเองค่ะ อย่างก่อนที่ยังไม่มีกฎหมาย PDPA จูนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับรีวิวร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ร้านอาหาร จะอยากให้มีภาพคนเยอะ ๆ คนเข้ามาต่อแถว ซึ่งในส่วนของฟุตเทจที่เราถ่าย ทางร้านจะขอเลยขอตอนคนเยอะ ๆ มาแทรกได้มั้ย เราก็ใส่ให้ลูกค้า แต่พอมีกฎหมาย PDPA นี้เข้ามา เราก็ลดการถ่ายหน้าคน เปลี่ยนมุมถ่าย จากนั่งโต๊ะหน้าสุด เปลี่ยนเป็นหลังสุด ชิดกำแพง ไม่มีคนข้าง ๆ การเห็นคนเยอะ ๆ เราจะถ่ายเห็นแค่คนหันหลัง พร้อมต้องเช็กไฟล์ภาพที่เราถ่ายมา โดยพยายามเลี่ยงโฟกัสบุคคลที่สาม ซึ่งก็เจอประสบการณ์มาค่อนข้างหลากหลาย และจูนพยายามปรับใช้อยู่ตลอด เพราะจูนมองว่า การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ดี แต่หลาย ๆ คนยังมีความเข้าใจกันไปในคนละทิศละทาง ยังไม่ลึกซึ้งพอ ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ ระวัง ป้องกัน กันต่อไปค่ะ”
โดย คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวสรุป “หากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เข้าใจยาก ไปถามนักกฎหมายสิบคน ตอบไม่เหมือนกัน เพราะบางคนก็ไปยึดหลักยุโรปมา บางคนไปตีความเอง เทรนด์นิ่งเซ็นเตอร์มีเยอะมาก ตั้งแต่หลักร้อยจนหลักหมื่น บางที่หลักแสน ถ้าเวลาเกิดปัญหาไม่มั่นใจ อันดับแรกก่อน กฎหมายนี้มาเสริมธุรกิจ ถ้ามันขัดคอมม่อนเซ้นส์ รู้สึกว่าแปลก ๆ ให้มาถึงสเต็ปที่สอง โทรหา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ที่นี่จะมีผู้เชี่ยวชาญที่จะตอบเลยว่า แบบนี้ผิดมั้ย ผิด-ไม่ผิด ผมก็อยากเชิญชวนว่า ถ้าท่านไปปรึกษานักกฎหมายแล้วรู้สึกว่า มันแปลก ๆ ทำไมกฎหมายฉบับนี้มันมาทำให้เราทำธุรกิจไม่ได้ หรือมีปัญหา ท่านสามารถใช้บริการพิเศษกับทาง สคส. โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สคส. เรามีฮอตไลน์เซ็นเตอร์ ให้บริการท่านฟรีครับ แล้วท่านจะได้คำตอบที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ จะช่วย ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ทำธุรกิจได้เหมือนเดิม”
เต็มอิ่มกับความรู้ทางในเรื่อง กฎหมาย PDPA ควบคู่กับ “เข้าใจ-ระวัง-ป้องกัน” ได้อย่างเต็มร้อยและมั่นใจมากยิ่งขึ้น กับการสัมมนาออนไลน์ ร่วมเจาะประเด็นสงสัย “PDPA กับ CONTENT CREATOR” พร้อมติดตามข่าวสารรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : PDPC Thailand หรือโทร. 02-142-1033