ผู้เชี่ยวชาญจุฬาฯ ยืนยันแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งต่างๆ ทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญจุฬาฯ ยืนยันแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งต่างๆ ทั่วโลก สามารถพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญและกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศได้

แร่เลบพิโดไลต์ (สีม่วง) ที่มีองค์ประกอบลิเทียมในหินเพกมาไทต์ที่พบร่วมกับแร่ดีบุกในภาคใต้ของไทย

ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันแหล่งทรัพยากรลิเทียมในภาคใต้ของไทยคุณภาพสูงคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งต่างๆ ทั่วโลก โดยผลงานวิจัยด้านลักษณะเฉพาะและศักยภาพของแหล่งลิเทียมในจังหวัดพังงา ภาคใต้ของไทย พบเป็นแหล่งลิเทียมที่อยู่ในแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) มีลักษณะเป็นแร่แผ่นสีม่วงอมชมพูที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) ซึ่งเป็นหินอัคนีเนื้อผลึกหยาบและสัมพันธ์กับแหล่งแร่ดีบุกของไทยอย่างชัดเจนอีกด้วย โดยพบว่าแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยนี้มีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูงเฉลี่ยประมาณ 0.4 % ถือเป็นแหล่งลิเทียมที่มีความสมบูรณ์สูงกว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก

ลักษณะแร่เลบพิโดไลต์ที่มีองค์ประกอบลิเทียมภายใต้กล้องจุลทรรศน์

โดยผลการวิจัยสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าแหล่งลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ที่พบอยู่ในหินเพกมาไทต์ในภาคใต้ของไทยนี้เกิดจากการตกผลึกของแมกมาที่ความสัมพันธ์กับหินแกรนิตที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคใต้และต่อเนื่องมายังพื้นที่อื่นๆ ของไทย ซึ่งผลการวิจัยแหล่งลิเทียมในภาคใต้นี้สามารถเป็นแนวทางสู่การสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเพื่อเพิ่มขอบเขตแหล่งศักยภาพลิเทียมได้เป็นอย่างดี

แร่ดีบุกที่เกิดร่วมกับแร่เลบพิโดไลต์ซึ่งเป็นแหล่งลิเทียม ในภาคใต้ของไทย

อีกทั้งยังพบว่าแหล่งลิเทียมดังกล่าวเกิดมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่ประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจนด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีบุกและธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลสู่การสำรวจและพัฒนาทรัพยากรเพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดบทความวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/feart.2023.1221485/full

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *