นักวิชาการ จี้รัฐเลิกคิดชงมาตรการลดภาษีไวน์นำเข้า ชี้นอกจากส่งผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังฆ่าผู้ผลิตรายย่อยของไทยล้มหายตายจาก ไร้หลักฐานกระตุ้นการท่องเที่ยว แถมย้อนแย้งไร้เอกลักษณ์เที่ยวไทย

จากกรณีกระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในกลุ่ม ไวน์ และ สุราชุมชน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการช๊อปปิ้งและท่องเที่ยว กระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปี ให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงง่าย

ล่าสุดวันที่ 22 ธันวาคม 66 ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ แม้จะให้อรรถประโยชน์จากการบริโภคแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคและต้นทุนสังคม ซึ่งในเมืองไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยพบว่า ต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเป้าหมายหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบกับที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยมาตรการด้านภาษีเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลดี แต่การที่กระทรวงการคลังออกมาระบุว่าการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้นั้นกลับไม่มีหลักฐานออกมายืนยันแน่ชัด

ทั้งนี้ การบริโภคไวน์ในประเทศส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและร้านอาหารต่างชาติที่มักดื่มไวน์ควบคู่กับอาหาร ราคาไวน์ที่ลดลงจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย อย่างไรก็ตาม การลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้าจะทำให้ไวน์มีราคาถูกลง ผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ไวน์เป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ผลิตรายย่อย เช่น สุราขาว สุราสี และเบียร์รายย่อย ที่พยายามผลิตอยู่ ดังนั้น การลดภาษีไวน์น่าจะขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนด้วยการลดภาษีเช่นกัน แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตอนนี้ต่างก็ถูกครอบงำโดยผู้ผลิตรายใหญ่ หากเก็บภาษีในอัตราต่ำ ยิ่งจะทำให้รายใหญ่ได้ประโยชน์ สามารถลดราคาเพื่อกีดกันผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด ดังนั้นหากรัฐต้องการเพิ่มผู้ประกอบการรายย่อยควรดำเนินมาตรการอื่น

“ผมว่า ภาครัฐควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และสังคม เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โครงสร้างภาษีควรจะมีลักษณะที่ง่าย และมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่บิดเบือนพฤติกรรมการบริโภค ไม่ใช่เพียงการประเมินปริมาณภาษีจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง” อาจารย์เฉลิมพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐต้องทบทวนนโยบายลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหวังรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากโครงสร้างภาษีปัจจุบันที่ตั้งไว้สูงถึง 200% นั้นก็เพื่อป้องกันการขาดดุลของประเทศจากสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ซึ่งมีการปรุงแต่งราคาให้สูงขึ้นจากมูลค่าทางการตลาด ทั้งที่ต้นทุนอาจจะต่ำกว่า 5% ประเทศที่ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย ยิ่งมีการบริโภคมากยิ่งขาดดุล จึงต้องตั้งอัตราภาษีไว้สูง ดังนั้นแนวคิดลดภาษีการนำเข้าไวน์ จะต้องคิดให้มาก เพราะเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากราคาต่ำลงการบริโภคก็จะมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา และจะทำให้ผู้ผลิตในไทยที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่สามารถสู้ได้แล้วจะล้มหายตายจากไป

คำถามสำคัญคือ หากไวน์ราคาถูกลงแล้วประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เพิ่มได้เท่าไหร่ ยิ่งบอกว่าลดภาษีนำเข้าไวน์เพื่อให้ไวน์ต่างประเทศเข้ามาขายนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ฟังดูแล้วมันย้อนแย้งว่า ผลประโยชน์สุดท้ายจะเกิดกับเศรษฐกิจไทย หากเรามีกำแพงภาษีไวน์อยู่เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวมาเที่ยวก็ต้องดื่มกินสิ่งที่มีอยู่ในตลาดไทยเพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ เหมือนกับการกินอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ แต่หากเขามาเที่ยวประเทศไทยแล้วยังได้รับการส่งเสริมให้ดื่มไวน์ที่ไม่ใช่ของไทยแล้วเขาจะประทับใจอะไรในความเป็นประเทศไทย และจะสร้างการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืนได้อย่างไร

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *