กสศ.เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำปี 2566 “ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ” ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากโควิด-19 และเงินเฟ้อเป็นตัวเร่งสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้รุนแรงขึ้น รายได้ครัวเรือนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือ 34 บาทต่อวันน้อยกว่าเกณฑ์ความยากจนในระดับนานาชาติถึงวันละ 80 บาท ชี้ไทยกำลังเผชิญหน้าความท้าทายในการพัฒนา “ทุนมนุษย์” โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่าทุนมนุษย์ในเด็ก เยาวชนวัยแรงงานตอนต้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ตั้งแต่ในระดับปฐมวัยมีความพร้อมด้านคณิตและทักษะการฟังลดลง ขณะที่ผลศึกษาเยาวชนวัยแรงงานช่วงต้น (ม.3) สูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ มีการประเมินว่าเด็กจากครัวเรือนยากจนที่มี Skill Loss ลดลงมากถึง 30-50% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แนะประเทศไทยออกแบบนโยบายและทรัพยากรใหม่ในการจัดการศึกษายุติวงจรยากจนข้ามรุ่น กสศ.แนะไทยออกแบบ“ลงทุนในทุนมนุษย์ทุกช่วงวัย” ใหม่ ยุติวงจรยากจนข้ามรุ่น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ เพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 และผลงานวิจัย และข้อเสนอการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 โดยชี้ว่า ปี 2566 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สถานการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ เป็นทุนเดิม ถ้าหากเราไม่ช่วยเหลือ ดูแลเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้ ประเทศไทยอาจมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ K-Shaped (K-Shape Recovery) หมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าจะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น “เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยจากการเรียนรู้ได้มากกว่า และเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูหรือหลุดจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ ( Lost Generation) หลักฐานเรื่องนี้ ยืนยันจากข้อค้นพบ ปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยากจนด้อยโอกาส”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ในบริบท และเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือ เด็กเยาวชนให้หลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า นอกจากนี้อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เราจะเหลือเด็กเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุกๆปี ทุกๆวัน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้”
ผู้จัดการกสศ.ชี้ว่า การลงทุนในทุนมนุษย์คือกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40% เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จากการประเมินขององค์การ UNESCO พบว่าหากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึง 3%”
ดร.ไกรยส ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน เด็กกลุ่มนี้ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนในระดับรุนแรงยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ ความเป็นอยู่ของเด็กแร้นแค้น สภาพบ้านเข้าข่ายทรุดโทรม ไม่มีค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ รายได้ของครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 1,250 บาทต่อเดือน ในปี 2562 ปี 2566 ลดลงเหลือ 1,039 บาทต่อเดือน หรือวันละ 34 บาท หรือลดลงราวร้อยละ 5
ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ความยากจนระดับนานาชาติ 2.15 ดอลลาร์ต่อวันหรือวันละประมาณ 80 บาท ผู้จัดการกสศ. ชี้ว่า จากการติดตามข้อมูลนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 มีข้อค้นพบ ดังนี้ 1.ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็น้อยลงเรื่อยๆ ปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (21,921 คนหรือ 12.46%) ต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 2 เท่า และ 2.ช่วงชั้นรอยต่อเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอมและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทางมาสมัครเรียน หรือการเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ
เด็กกลุ่มนี้ต้องผ่านด่านที่เป็นอุปสรรคจำนวนมากจนต้องยอมแพ้ไม่เรียนต่อในที่สุด เช่น ค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยคิดเป็น 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ หรือราว 13,200 บาท-29,000 บาท กสศ. ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS พบว่า “ทุนการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจเรียนต่อ” ขณะที่ค่าใช้จ่าย TCAS ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเรียนยากจนพิเศษ การสมัคร TCAS แต่ละรอบ/สาขา หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) รายงานความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา หรือ School Readiness Survey (SRS) ชี้ว่า ความพร้อมด้านการอ่านและคณิตบางมิติของเด็กปฐมวัย ยังน่าเป็นห่วงควรเร่งช่วยเด็กที่มีปัญหาก่อนสายเกินแก้ เพราะความพร้อมนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า จะเรียนในระดับประถมได้ดีแค่ไหน โดยการสำรวจสถานะความพร้อมเด็กปฐมวัยที่เรียนอยูในระดับอนุบาล 3 จำนวน 43,213 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างปีการศึกษา 2562-2565 ถึงแม้จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ในระดับหมวดย่อยของทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในระดับที่น่ากังวลมาก เช่น ความพร้อมด้านการต่อรูปในใจ มีจังหวัดจำนวนมากที่มีระดับความพร้อมด้านการต่อรูปในใจต่ำมากร้อยละ 15 ส่วนด้านภาษาพบว่า ความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังอยู่ในระดับที่น่ากังวล มีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศถึงร้อยละ 25 ที่มีความเข้าใจในการฟังต่ำมาก “เราควรโฟกัสเด็กที่ไม่พร้อม (low-readiness children) โดยเฉพาะ เด็กที่ขัดสน มีโอกาสขาดความพร้อมสูงกว่า ควรให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ก็ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่สูงมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น (high marginal returns)”
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ รายงานความพร้อมทุนมนุษย์ในเยาวชนแรงงานช่วงต้น (Career Readiness Survey) ระบุว่าเครื่องมือนี้สำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 5,200 คน ใน 26 จังหวัด ทั้งหมด 246 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 156 โรงเรียน และโรงเรียนประเภทอื่น ๆ จำนวน 91 โรงเรียน พบว่าทั้งหมดเกิดการสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ (Career Readiness Loss)จากการประเมิน Soft Skill ทั้ง 7 ด้านได้แก่ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก ทักษะการแก้ปัญหาทักษะความร่วมมือกัน ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ผลที่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด ลดลงถึง 30-50% โดยกลุ่มที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนจากครัวเรือนยากจน ถ้าเป็นเด็กในโรงเรียนมัธยมทั่วไปจะลดลง 5-15% ดังนั้นถ้าเด็กยากจนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาจะมีชีวิตที่ลำบากมาก “นี่เป็นสภาพของเด็กที่จะเจอปัญหาหนักที่สุด แต่ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่ำที่สุด”
ดร.เกียรติอนันต์ ยังระบุว่า ถ้านำข้อมูลเรื่องความสำเร็จในตลาดแรงงานมาวิเคราะห์จะพบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีแรงผลักดันเพียงพอทำให้ทุนมนุษย์ของประเทศไทยขยับได้จริงๆ เราต้องส่งทุกคนให้จบ ปวส. หรือมีทักษะเทียบเท่าคนจบ ปวส. ถ้าต่ำกว่านี้ เด็กจะไม่หลุดจากกลุ่มก้อนทักษะทุนมนุษย์ระดับล่าง ซึ่งอาจจะเป็นการยกระดับทักษะให้เทียบเท่า สำหรับรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพร้อมข้อเสนอนโยบายฉบับเต็ม สามารถ ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.eef.or.th/publication-28816/