สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผนึกพลังหนุนเสริมและผลักดันผู้ประกอบการไทย นำคณะผู้บริหาร ประชุมหารือกับองค์กรชั้นนำ ณ ประเทศฝรั่งเศสและประเทศเบลเยี่ยม พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานบริการ และพัฒนาธุรกิจ มุ่งสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต สู่การพัฒนา เพื่อยกศักยภาพ SME ไทย ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ภายใต้การนำรศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงาน และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ร่วมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมหารือและศึกษาดูงาน
ภารกิจแรก คณะฯ ได้ยัง สำนักงาน Cosmetic Valley ณ เมืองชาร์ตร์ ประเทศฝรั่งเศส โดยประชุมร่วมกับ Ms.Franckie Béchereau (ฟรังกี้ เบอเชอโรว), Deputy General Manager และทีมงาน Ms.Franckie เล่าว่ารัฐบาลประเทศฝรั่งเศส ได้มอบอำนาจให้องค์กรเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ ในการจัดการในภาคเครื่องสำอางของประเทศ ในปี 2559 ได้จัดตั้งธุรกิจภาคเครื่องสำอางในระดับโลก (ประเทศไทย มีองค์กร TCL เป็นสมาชิก) ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในวงการเครื่องสำอาง ที่ปัจจุบัน ทั่วโลก มีกว่า 3200 องค์กร และ 80% ของผู้ประกอบการเป็น SMEs ผลการเดินทางร่วมประชุมกับ Cosmetic Valley ในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างยินดีที่จะหารือเพิ่มเติม เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ต่อไป
ต่อมา คณะฯ ได้เดินทางต่อไปยังประเทศเบลเยี่ยม โดยช่วงเช้าได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงโครงการและความร่วมมือต่างๆ ระหว่างอียูและอาเซียน โดยยกตัวอย่าง Green Deal ซึ่งเป็นโครงการที่ EU ได้จัดทำเป็นมาตรฐาน ที่ผู้ประกอบการต้องการส่งออกไปยุโรปต้องดำเนินการ
ขณะที่ Global Gateway เป็นโครงการที่จะดำเนินการกับอาเซียนในเรื่องการ Digital Transform โดย EU ได้ประกาศให้ทุนสนับสนุนกับประเทศที่สนใจ ซึ่งในประเทศไทยกำลังศึกษาในกรอบของ Legal Framework และศึกษาเกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของยุโรป
นอกจากนี้ คณะฯ ได้เข้าหารือกับ European Digital SME Alliance เครือข่าย ICT ใหญ่สุดในยุโรป โดยมี Mr. Antonio Grasso, Policy Director of The European Digital SME Alliance นำทีมงานให้การต้อนรับ พร้อมเล่าว่าองค์กรทำงานหลัก 3 ด้าน คือ ด้านนโยบาย เป็นตัวกำหนดแนวปฏิบัติของสมาชิกแต่ละองค์กร เช่น กลุ่มปฏิบัติงาน (Working Group) กลุ่มเป้าหมาย (focus groups) และภาระหน้าที่ต่างๆ ด้านที่ 2 คือ การเข้าถึงแหล่งทุน Alliance ได้ให้ความสนับสนุนและมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน ทั้งการจัดหาเครื่องมือและอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการช่วยผู้ประกอบการเขียนโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของสถาบันการเงินต่างๆ และด้านที่ 3 คือ การสร้างเครือข่าย โดยมีแพลตฟอร์มการจับคู่ทางธุรกิจ (Matchmaking platform) ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งการสร้างเครือข่าย ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรวบรวมแนวทางการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมาไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ Alliance ยังได้แนะนำแนวทางการดำเนินงานในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสร้าง ศูนย์นวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Innovation Hubs) ในแต่ละภูมิภาค จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการลงทุนหรือแหล่งทุนทั้งของเอกชนและรัฐบาล เพื่อจัดทำเครื่องมือต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกในโครงการทดลองต่างๆ อีกด้วย
ต่อมา คณะฯ ได้เดินทางไปร่วมหารือกับ DG Grow องค์กรส่งเสริมผู้ประกอบการ SME สหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยมี Mr. Serafin Sanchez Gonzalez, Policy Officer at European Commission นำทีมงานให้การต้อนรับ ในที่ประชุมเล่าว่า ขณะนี้ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบเอสเอ็มอี จำนวน 24,281,159 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.8 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 64.4 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3,945.8 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 51.8 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับการดำเนินงานด้านนโยบายสงเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะศึกษาในปัจจัยประสิทธิผลในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุโรป การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานตาม Green Market ในส่วนของอุตสาหกรรม สหภาพยุโรปได้มุ่งเน้นในการ ecosystem ให้กับ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หรือ 99% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการส่งเสริมการเปลี่ยนแทนในด้านของสิ่งแวดล้อม (Green) และดิจิทัล (Digital) ที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม
ก่อนจบภารกิจสุดท้าย ด้วยการประชุมหารือกับ COSMED องค์กรระดับชาติ ผู้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยมี Ms.Caroline BASSONI, the Director of COSMED ให้การต้อนรับ พร้อมเปิดเผยว่า COSMED เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป แบ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 เป็นผู้ประกอบการ Intermediate Size Enterprise: ISE ประกอบด้วยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จำนวน 725 ราย และเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) และที่ปรึกษาอีก 291 ราย จากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง COSMED มีบทบาทในการพัฒนา และแสดงความเห็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และระเบียบปฎิบัติเกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมถึงทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติ ทั้งยังให้บริการด้านมาตรฐานและการรับรอง (Standardization or the certification) อาทิ AFNOR (a French Standard), CEN (a European Standard), ISO (International Standard) นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้ร่วมหารือ ถึงการอบรมผู้ประกอบการเครื่องสำอางในประเทศไทย โดย สสว. จะสรุปประเด็นที่ต้องการ เพื่อให้ COSMED สามารถออกแบบหลักสูตรการอบรม พร้อมเชิญผู้บริหารของ COSMED มาอบรมให้กับผู้ประกอบการไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 นี้
การเดินทางครั้งนี้ ของ สสว. วว. และ สอวช. นับเป็นอีกก้าวสำคัญเชิงรุก ในการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต สู่การพัฒนาเพื่อยกศักยภาพ SME ไทย ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป