ETDA จับมือ NIA และพาร์ทเนอร์รัฐ-เอกชน ลุยจัด “Hack for GOOD Well-Being Creation” เฟ้นหานวัตกรรม ยกระดับชีวิตเมืองเชียงใหม่

28 กุมภาพันธ์ 2566, กรุงเทพฯ – สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และเทคซอส มีเดีย เปิดตัวกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” ลุยเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมที่จะมาแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ หลังสำรวจพบคนเชียงใหม่กำลังเผชิญกับสุขภาวะในหลายมิติ ทั้ง สุขภาพ ความสะอาด และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากผลการสำรวจของ ETDA ที่ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ เทคซอส มีเดีย เรื่องความต้องการและปัญหาในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เมืองในเดือน มกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบข้อมูลสำคัญว่า เชียงใหม่ยังมี Gap ที่สะท้อนถึงประเด็นทางด้านสุขภาวะ อีกทั้งปัญหาที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเมืองทั้งด้านความสะอาดโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ถนน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่คนมักจะมารวมตัวกัน นอกจากนั้น ในด้านสุขภาพยังพบปัญหาฝุ่นควันและสารเคมีตกค้างในอาหาร อีกทั้ง การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพก็ยังมีความล่าช้าในหลายพื้นที่ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบทั้งต่อผู้รับบริการและให้บริการ อีกทั้งยังมีผลต่อชาวเมืองเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวด้วย

ETDA เป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญ คือ การมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่ชีวิตดิจิทัลด้วยความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น ภายใต้ Ecosystem ที่มั่นคง ปลอดภัย ผ่านการดำเนินงานทั้งในมุมของข้อเสนอแนะมาตรฐาน และกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิด Digital Adoption and Transformation ขับเคลื่อนการทำงาน ธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ได้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนเมือง ที่ครอบคลุมตั้งแต่ในเรื่องของความเป็นอยู่ สุขภาพ และอาหารการกิน ผ่านนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเป็นตัวเร่งในการเพิ่มประสิทธิภาพในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น จึงได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์สำคัญไม่ว่าจะเป็น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ เทคซอส มีเดีย จัดกิจกรรม “Hack for GOOD: Well-Being Creationนวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ Service Provider ตลอดจน Startup นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ ได้มาแข่งขัน สู่การเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม โซลูชัน เทคโนโลยี ตลอดจนระบบ แอปฯ ฯลฯ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองและส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนเชียงใหม่ตลอดจนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเชียงใหม่ ให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น

ภายใต้โจทย์สุดท้าทายที่กำหนดขึ้นเพื่อรองรับสุขภาวะของคนเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ 1. Good Home – บ้าน (เมือง) สะอาดดี นวัตกรรมเปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ ด้วยการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความสะอาดของพื้นที่ 2. Good Healthcare – บริการสุขภาพดี นวัตกรรมยกระดับบริการสุขภาพ เพื่อให้คนเชียงใหม่เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค Covid-19 3. Good Food for Health – อาหารการกินดี นวัตกรรมที่จะช่วยให้อาหารการกินในเมืองเชียงใหม่ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นไปในแนวทางเพื่อสุขภาพมากขึ้น ตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบปลอดสาร ไปจนถึงความหลากหลายของอาหารที่จะทำให้สุขภาพผู้บริโภคดีขึ้น

“กิจกรรม Hack for GOOD ถือเป็นกลไกสำคัญที่ไม่เพียงเพื่อเฟ้นหานวัตกรรม โซลูชัน ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการร่วมสร้างและร่วมพัฒนานวัตกรรมของผู้ให้บริการ และผู้พัฒนานวัตกรรมหน้าใหม่ ได้มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันนวัตกรรม โซลูชันสู่การใช้งานจริง เพื่อเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศในอนาคต”

โดยสิ่งที่ผู้เข้าร่วมการเเข่งขันในกิจกรรมนี้จะได้รับ นอกจากการขยายเครือข่าย ทำให้รู้จักคนในวงการ Startup มากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ รวมถึงจะได้พบกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านเท่านั้น แต่ยังจะได้พบกับเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพร้อมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาคอยให้คำแนะนำถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรม โซลูชัน ให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุดด้วย

สำหรับทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 150,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ที่สำคัญ ทั้ง 3 อันดับ ยังจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม Pitching ที่เวที Tech Showcase ในงาน Techsauce Global Summit 2023 ด้วย

กิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” เปิดรับสมัครแล้ววันนี้จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 จากนั้นคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกอย่างเข้มข้นให้เหลือ 15 ทีมสุดท้าย ซึ่งจะประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เพื่อไปต่อในกิจกรรม Open House ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2566 สำหรับ Service Provider Startup นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดคุณสมบัติของทีมผู้เข้าเเข่งขัน โจทย์การแข่งขัน ตลอดจนรายละเอียดรางวัลเพิ่มเติม และสมัครร่วมกิจกรรมการแข่งขัน ได้ที่ https://www.etda.or.th/th/hackforgood หรือติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ เพจ ETDA Thailand: https://www.facebook.com/ETDA.Thailand

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *