บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน ก้าวสู่ “35 ปี ซีพีแรม” ประกาศทิศทางองค์กร 5 ปี (2566-2570) และขอบคุณหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ขององค์กร ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) เป็นประธานในงานดังกล่าว ในครั้งนี้นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้ประกาศทิศทางองค์กร 5 ปี (2566-2570)
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ซีพีแรม ก้าวสู่ยุคใหม่ “ยุคไร้พรมแดน” ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ซีพีแรมยังคงขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ร่วมด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับพันธมิตร ด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ตามแนวทาง FOOD 3S ขององค์กร ได้แก่ ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และความยั่งยืนทางอาหาร (Food Sustainability) ตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อการนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิต จนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอมา จากการเดินทางมายาวนาน 35 ปี สิ่งหนึ่งที่ซีพีแรมได้ค้นพบคือขีดความสามารถของบุคลากรและขององค์กรมีได้ไม่สิ้นสุด หากทลายกำแพงแห่งข้อจำกัดต่างๆ ลงได้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบวิธีคิด องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ความเป็นไปไม่ได้ก็อาจกลายเป็นความเป็นไปได้ขึ้นมา เป็นที่มาของแนวคิด “ยุคไร้พรมแดน” ในยุค 8 นี้
ในมุมมองของนายวิเศษ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความไร้พรมแดนเกิดขึ้นได้จริง คือ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมส่วนรวมอย่างทั่วถึง ด้วยความร่วมมือสามารถสร้างความไร้พรมแดนได้ทันที ซึ่งความไร้พรมแดนนี้เกิดได้จาก ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานของเราไปจนถึงหน่วยงานภายนอกเลย แค่คิดและลงมือทำร่วมกันจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เราจะสร้างและขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน บางอย่างยังไม่ได้ทำก็สร้างขึ้นมา บางอย่างทำแล้วก็ขยายความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง เพื่อที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมส่วนรวมอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจเคียงข้างสังคมไทยอย่างเกื้อกูล นี่เป็นเป้าหมายหลักของเราในยุคนี้
ขณะเดียวกัน ซีพีแรมขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย กว่า 7 แห่ง คือ ปทุมธานี 2 แห่ง กรุงเทพฯ ชลบุรี ลำพูน สุราษฎร์ธานี และขอนแก่น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นปีละ 12% และช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการสร้างงาน สร้างรายได้ในภูมิภาค ซีพีแรมวางเป้าหมายในยุคนี้ คาดการณ์เป้าหมายยอดขายปี 2570 จะเติบโตขึ้นเป็นอีกเท่าตัว หรือยอดขายเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี โดยการขยายตลาด กลุ่มอาหารสุขภาพ กลุ่ม Functional food และกลุ่ม Plant Based Diet ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพโดยตรง จากการที่ผู้คนต้องการการดูแลสุขภาพทั้งเชิงป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โรคในอนาคตน่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นและรักษายากขึ้น
ซีพีแรมจึงนำเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม เป็นการตอบโจทย์ความต้องการด้านโภชนาการที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นก้าวต่อไปของซีพีแรมในยุคนี้ที่นำไปสู่การผลิตอาหารที่จำเพาะเจาะจงกับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มมากขึ้นเรียกว่า Functional food เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีความต้องการโภชนาการชนิดเดียวกันทุกๆ คน เราควรจะมีอาหารสำหรับคนวัยเด็กว่าต้องการโภชนาการแบบใด คนที่ต้องใช้พลังงานมากในวัยทำงานต้องการโภชนาการแบบใด คนที่สูงวัยต้องการโภชนาการแบบใด เราต้องพัฒนาไปตรงนั้นโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม รวมถึงการพัฒนากลุ่มสินค้าใหม่ออกมาตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน คือ อาหารพร้อมรับประทานภายใต้ตราสินค้า “ VG for Love ” อาหารกลุ่มใหม่สำหรับผู้บริโภคที่มีการบริโภคพืชเป็นหลัก “ Plant Based Diet ” ซึ่งมีไลฟ์สไตล์สอดคล้องทั้ง 4 ความรัก คือ รักสุขภาพ รักชีวิตสัตว์ รักสิ่งแวดล้อม และรักโลก มุ่งหวังให้เกิดความสมดุลตลอดห่วงโซ่อาหาร
นายวิเศษ ยังกล่าวต่อว่า ซีพีแรมได้สร้างโรงงานเบเกอรี่ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีกำลังผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน จะเปิดดำเนินการในปี 2566 นับเป็นโรงงานแห่งที่ 16 ของซีพีแรม พร้อมกับจัดตั้งศูนย์ FTEC (Food Technology Exchange Center) ขึ้น ด้วยงบการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (บ่อเงิน) จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือและประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอาหารของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME
“เรามองว่าการจะเปิดไร้พรมแดนได้นั้นต้องมีศูนย์กลางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิจัย นักพัฒนา และนักธุรกิจ ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน บูรณาการศาสตร์ต่างๆ กับเทคโนโลยี เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ระดมความคิด นักวิจัยได้โจทย์จริงไปทำวิจัยและพัฒนา ส่วนนักธุรกิจก็ได้นักวิจัยมาช่วยแก้โจทย์ มาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอาหารผ่านโครงการวิจัย โดยซีพีแรมทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทั้งสองฝ่ายนี้มาเจอกัน สนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการ บุคลากร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สำหรับห้องปฏิบัติการวิจัย ยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำจวบจนถึงปลายน้ำ อีกก้าวสำคัญของซีพีแรมในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม คือ การวางหลักสูตรการจัดการอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยการรวมเอาประสบการณ์ของ ซีพีแรมกว่า 35 ปี ถ่ายทอดต่อยอดสู่บทเรียน บ่มเพาะบุคลากรยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน และยังนำเงิน 1% ของยอดขาย หรือปีละ 150-200 ล้านบาท ใช้กับการวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง”
ซีพีแรม ยังคงผนึกกำลังทุกภาคส่วน ในการร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคมในการร่วมส่งมอบอาหารเพื่อความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติ