นักวิชาการค้านขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึง ตี 4 ชี้อุบัติเหตุจราจร ปี 64 มาจากดื่มแล้วขับกว่าร้อยละ 49.8 และส่วนใหญ่เกิดเหตุช่วงกลางคืน

นักวิชาการค้านขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึง ตี 4 ชี้อุบัติเหตุจราจร ปี 64 มาจากดื่มแล้วขับกว่าร้อยละ 49.8 และส่วนใหญ่เกิดเหตุช่วงกลางคืน ฟันธงปัญหาสังคมเกินรับไหวแล้ว หวั่นมูลค่าความสูญเสียจากเหล้าที่มากกว่า 165,464 ล้านบาทต่อปีจะยิ่งขยายวงกว้าง ยกนอรเวย์ขยายเวลาขายเพิ่ม 1 ชม. ปัญหาทำร้ายร่างกายเพิ่มร้อยละ 16 ด้านสมาคมเพื่อนเยาวชนใต้ วอนมุ่งสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวดีกว่าเพิ่มคนเมาจากข่าวที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจากเดิม 02.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการเพิ่มพื้นที่โซนนิ่งที่เสนอให้ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. ได้แก่ ถนนบางลาในภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และ 3 พื้นที่ในกรุงเทพฯ คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงษ์ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การขยายเวลาในการเปิดสถานบันเทิง ซึ่งต้องยอมรับว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจกรรมหลักย่อมทำให้เกิดปัญหาจากแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างประเทศที่เคยประสบปัญหาเช่นนี้ เช่น ประเทศออสเตรเลีย การขยายเวลาขายทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุรถชนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไอซ์แลนด์ การเพิ่มเวลาขายทำให้มีอัตราการเข้าห้องฉุกเฉิน การบาดเจ็บ การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย และการขับขี่ขณะมึนเมาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในประเทศนอร์เวย์ การเพิ่มชั่วโมงขายแอลกอฮอล์ 1 ชั่วโมง ทำให้ปัญหาการทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 16 สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยมีพฤติกรรมดื่มแล้วขับสูงถึงร้อยละ 49.8% โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน และเป็นที่แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อสังคมจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมไปถึงการทะเลาะวิวาท และการทำร้ายร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับมูลค่าความเสียหายที่รัฐต้องแบกรับภาระ จากการศึกษาต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย พ.ศ. 2564 พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 165,454 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 1.02 ของ GDP ข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริงที่ ครม.ต้องรู้ก่อนตัดสินใจ

“ตัวอย่างประเทศในทวีปยุโรปที่จำกัดเวลาขายแอลกอฮอล์ช่วงกลางคืน ได้แก่ ประเทศลัตเวียและลิทัวเนีย ห้ามจำหน่ายฯ ตั้งแต่เวลา 22.00 – 8.00 น. ประเทศนอร์เวย์ ห้ามจำหน่ายฯ ในวันอาทิตย์ทั้งวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00 – 10.00 น. และวันเสาร์ เวลา 15.00 – 9.00 น. และประเทศไอร์แลนด์ ห้ามจำหน่ายในวัน จันทร์ – เสาร์ ตั้งแต่เวลา 22.00 – 10.30 น. และวันอาทิตย์เวลา 22.00 – 12.30 เป็นต้น ดังนั้น ครม. ควรพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างเงินรายได้จากการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงกับต้นทุนทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากแอลกอฮอล์ “ได้ หรือ เสีย” ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงไม่ควรขยายเวลาขายในสถานบันเทิง หากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายและระบบเข้ามารองรับและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการการตั้งด่านตรวจลมหายใจแบบสุ่ม (RBT) มาตรการความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ/ บริษัทแอลกอฮอล์ต่อผลกระทบและความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทะเลาะวิวาท และคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าว

ด้านกันตณัช รัตนวิก ผู้ประสานงานสมาคมเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเพื่อนภาคีในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 พบว่าเสียงเป็นเอกฉันท์ ทุกคนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะมั่นใจได้ว่าจะเกิดผลกระทบกับเด็ก เยาวชนและประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน ปัจจุบันสภาพที่เป็นอยู่ก็ยังแก้ไขกันไม่ตกอยู่แล้ว คนเมาแล้วขับยังเต็มถนน ผลกระทบจากการกินดื่มที่เกินขอบเขตขาดความรับผิดชอบยังทวีความรุนแรงอยู่ การขยายเวลากินดื่มคือการเพิ่มคนเมาให้มากขึ้นในพื้นที่ นั่นหมายถึงความเสี่ยงย่อมเพิ่มขึ้นตามมา คนในพื้นที่ต้องรับกรรมมิใช่คนที่ตัดสินใจเชิงนโยบายบ การตัดสินใจโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงแบบนี้อันตรายมาก การที่รัฐจะมุ่งใช้แต่อำนาจแบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาจากเหล้าให้มากขึ้นไปอีก รัฐควรมาช่วยสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวให้มากขึ้นจะดีกว่ามาสร้างนโยบายทำลายสังคมแบบนี้

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *