เพจเครือค่ายคัดค้านร่างกฏหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ร้องพม. เร่งตรวจสอบความไม่โปรงใส่ หลังพบข้อพิรุธ!

ร้อง พม. ให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของกระบวนการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรฯ ซึ่งจัดทำโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หลังพบข้อพิรุธสงสัย

นายนพพล ไม้พลวง ตัวแทนเพจเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…… ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน ภายหลังผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2565

นายนพพล กล่าวว่า อาจมีความไม่โปร่งใสในขั้นตอนและวิธีการใช้งาน เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะบนเว็บไซต์ภายใต้ความดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเปิดให้มีบางช่องทางที่สามารถส่งความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย และสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยปราศจากการบังคับให้แสดงตนด้วยการระบุข้อมูลส่วนบุคคลเหมือนช่องทางการรับฟังออนไลน์อื่นๆ จนเป็นข้อสังเกตว่า อาจมีความพยายามเพิ่มปริมาณของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีตัวตนเข้าไปแสดงความเห็นต่อกฎหมายได้
“เรามาเพื่อขอใช้สิทธิตามช่องทางที่หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เปิดช่องไว้ให้มีการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายนี้ แม้องค์กรหรือบุคคลที่อยากให้ตรวจสอบ คือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในกรมหรือกระทรวง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของศูนย์ที่ถูกระบุภารกิจไว้ว่า ต้องรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งส่งเสริมและกำกับติดตามให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวินัย และต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบอยู่แล้ว” นายนพพล กล่าว

นายนพพล กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ส่งเอกสารและหลักฐานทั้งหมด ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แล้ว ถึงการทำหน้าที่ของกรมที่ดำเนินการรับฟังแบบไม่โปร่งใส และมีพิรุธที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดการทุจริตได้ เพราะช่องทางการรับฟังของกระทรวงนี้ นอกจากจะไม่ทั่วถึงแม้มีความพยายามขยายเวลาอยู่หลายครั้ง ยังพบว่ามีเว็บไซต์ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของกรมฯเว็บไซต์หนึ่ง ที่ได้เปิดขึ้นมาเพิ่มเติมในช่วงโค้งสุดท้ายของการรับฟังความเห็น เป็นเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการสแปมข้อมูล เพราะไม่จำเป็นต้องแสดงข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นรายมาตราเหมือนกับช่องทางอื่น รวมทั้งยังสามารถระบุชื่อหรือตัวตนของผู้แสดงความคิดเห็นเป็นใครสังกัดองค์กรใดก็ได้ ทำให้ง่ายต่อการแอบอ้าง ขณะที่ช่องทางการเปิดรับฟังผ่าน Google From จากเว็บไซต์เดียวกันของกรมนี้ แม้จะมีหลายหน้าต่างแต่เมื่อใช้งานจริงพบว่าใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้างเหมือนไม่มีผู้รับผิดชอบ แม้หากจะไม่ใช่การทุจริต ก็สะท้อนการทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใสได้ กระบวนการนี้รวมทั้งร่างกฎหมายนี้ควรมีการถอยกลับไปพิจารณากันใหม่ หรือต้องถอนออกไปทั้งฉบับ ตามที่ประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และอีกหลายภาคส่วนได้แสดงออกคัดค้านอย่างชัดเจน ไม่ควรดึงดันอีกต่อไป

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *