ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เผยถึงการได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง ภายใต้โครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเป็นต้นแบบนำร่องในการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับคุณภาพด้านการศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยและของประเทศไทยให้เท่าทันยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Teach and Learn from Anywhere และ Intelligent Hybrid Classroom พร้อมระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement โดย DPU พร้อมจะเป็นต้นแบบแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งแบบ On-Site และ Online ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งสามารถนําไปทำซ้ำ ทำเสริม พัฒนา ต่อยอด รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา จากต้นแบบของ Smart Campus ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Process) และการพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนเสริมสร้างให้ผู้สอนมีแรงจูงใจในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ DPU ยังอาศัยกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว มาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการเป็นนวัตกร (Innovator/Maker) ในอนาคต ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จริง โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ เป็น Living Lab ก่อนจะขยายผลไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้ และภายใต้โครงการนำร่องนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสทางด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการและชุมชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการเข้าถึงบริการทางวิชาการด้านต่างๆ ของ DPU หรือ เนื้อหาหลักสูตรด้าน Reskill & Upskill ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์แบบ Real-Time และมีการถ่ายทอดเนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดร.ดาริกา กล่าวด้วยว่า DPU มีความพร้อมสำหรับการเป็นต้นแบบ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในการผลิตกำลังคนให้มี Skill Set และ Mindset ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกยุคดิจิทัล ทั้งยังปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education) เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษามีศักยภาพที่เป็นอัตลักษณ์พร้อมด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรียกว่า มี DPU DNA 6 ประการ ประกอบด้วย 1) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม 2) ทักษะด้านการค้นหาและแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 3) มีความชาญฉลาดในทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นคว้าและแก้ปัญหา 4) ทักษะการสื่อสารและเจรจาอย่างมืออาชีพ 5) ทักษะการประสานงานเป็นทีม และ 6) ทักษะด้านความรอบรู้และวิเคราะห์แบบผู้ประกอบการ พร้อมนี้ DPU ยังได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Active Learning โดยเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ทั้ง Offline และ Online และ Experiential Learning
“ในส่วนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น ทางด้านกายภาพได้ปรับปรุงห้องเรียนและห้องปฏิบัติการต่างๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าเรียน มีความเป็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน โดยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric World University Ranking เป็นอันดับ 82 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางดิจิทัล มีการจัดเตรียมทั้ง Learning Management System platform และปรับปรุง Digital Infrastructure เพื่อสนับสนุนให้การจัดการเรียนรู้แบบ Tech and Learn From Anywhere รวมทั้งระบบ Data Intelligence เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และบริหารจัดการ” ดร.ดาริกา กล่าว
จากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ DPU ต้องเร่งขบวนการปรับตัวดังกล่าวข้างต้นให้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยจัดให้มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถจัดการเรียนการสอนทาง Online แบบ Live และตอบโต้ได้สองทาง และจัดให้มี Hybrid Classroom เพื่อให้สอดรับกับมาตรการ Social Distancing โดยผู้เรียนส่วนหนึ่งสามารถเรียนรู้จากที่ใดก็ได้ แต่สามารถเรียนรู้และโต้ตอบกับผู้สอนได้แบบ Real-Time เสมือนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้สอนยังมีส่วนร่วมและเร่งเพิ่มผลิต Online Content ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเข้มข้นของการสร้างผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (Learning Engagement) และทบทวนรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment)
ปัจจุบัน DPU มีนักศึกษาจำนวนกว่า 12,000 คนที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้จากที่ใดก็ได้และในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 3,000 คน ที่จะต้องเรียนผ่านออนไลน์แบบข้ามประเทศ ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ทั้งแบบ Online และ Hybrid คือ การสร้างให้ผู้เรียนคงความสนใจและมีส่วนร่วมระหว่างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ AI Video Analytics ในห้อง Intelligent Hybrid Classroom ต้นแบบ จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement แบบ Real-Time ทั้งการเรียน On-Site และการเรียน Online ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที
ดร.ดาริกา กล่าวในตอนท้ายว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถใช้ DPU เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาติดตั้งใช้งานเท่านั้น หากแต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology) แบบบูรณาการ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการศึกษา (Process) และบุคลากร (People) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง