เปิดใจครอบครัวเด็กพิเศษ ติดโควิด-19 ยกบ้าน ชี้ลำบาก ไร้เตียง วอนรัฐจัดสถานพยาบาลสำหรับเด็กพิเศษ เหตุเป็นกลุ่มยากลำบากดูแลตัวเองไม่ได้ ด้าน“ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ สมุทรสงคราม” เตรียมพร้อมข้อมูลใช้ดูแลเด็กพิเศษหากติดโควิด ขณะที่ มูลนิธิเด็กเยาวชนฯ ลุยมอบสิ่งของจำเป็นช่วยเด็กพิการ
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2564) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดสมุทรสงคราม และเครือข่ายอัมพวาโมเดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “เด็กพิเศษ ในสถานการณ์โควิด-19ที่ยังไม่จบ”ไลฟ์สดทางเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว
นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คุณแม่ที่ต้องรักษาตัวเองและลูกชาย กล่าวว่า ตนมีลูก 2 คน คนเล็กเป็นชายอายุ 18 ปี ป่วยเป็นออทิสติก การเลี้ยงเด็กพิเศษถือว่ามีความยากกว่าเด็กทั่วไป แต่โชคดีที่ลูกของตนสามารถ สามารถพูดคุย สื่อสารและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารทางอารมณ์ ทั้งนี้ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด19 ก็ได้พยายามสอนให้น้องรู้จักโรค รู้จักการป้องกันและรักษาโรค จนกระทั่งสามีของคนต้องกักตัวที่บ้านเนื่องจากที่ทำงานมีคนติดโควิด แต่ระหว่างที่อยู่ที่บ้านก็ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือแยกตัวออกจากครอบครัว ยังรับประทานอาหารดูทีวีด้วยกันจนกระทั่งไปตรวจหาโควิดทั้งครอบครัวและทราบผลเมื่อประมาณวันที่8 ก.ค. ก็มีการติดเชื้อ 3 คน คือตน สามี และลูกชาย ส่วนลูกสาวที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ติดเชื้อ ทั้งนี้ สามีถูกส่งไปที่รพ.สนาม ส่วนตนพยายามพยายามหาเตียงที่เหมาะสมสำหรับการดูแลเด็กพิเศษด้วยแต่ไม่สามารถหาได้ ทำให้ต้องอยู่รักษาตัวเองที่บ้าน และแยกตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสาวติดไปด้วย แรกๆ ลูกชายเนื่องจากเป็นออทิสติกก็จะต้องมีการปรับการดูแลกันเยอะ ทั้งการกิน การอยู่ ทำความเข้าใจเรื่องการไม่ออกมานอกห้อง แรกๆ น้องไม่เข้าใจ แต่หลังๆ เริ่มเข้าใจมากขึ้น
“เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ทางรพ.ได้มีการเอ็กซเรย์ปอดลูกชายเริ่มมีปัญหา จะถูกส่งเข้ารพ.สนาม แต่เราไม่สามารถไปได้เพราะน้องเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งจะยากมากในการไปอยู่ร่วมกับคนอื่น จึงให้อยู่บ้าน แล้วจากนั้นก็ไม่ได้มาดูแลอะไรอีกเลย ไม่มียามาให้ ไม่มีเครื่องวัดไข้วัดออกซิเจน ยา และอุปกรณ์ต่างๆ มีแต่ทางมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับน้องส่งมา และภาคประชาชนต่างๆ ส่งมา ซึ่งตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว แต่เรามองว่านี่เป็นแค่ความโชคดี ยังมีเด็กพิเศษอีกมากที่ติดโควิด และกำลังหาเตียงอยู่ หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐได้จัดหาสถานพยาบาลสำหรับเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึงด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ดูแล หรือช่วยเหลือตัวเองลำบากหากติดเชื้อ” นางสกุลศรี กล่าว
ด้าน นายโกสินทร์ สวัสดิ์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในพื้นที่สมุทรสงคราม มีกลุ่มเด็กพิเศษที่โรงเรียนดูแลอยู่ 110 คน การดูแลเด็กพิเศษที่ผ่านมาในช่วงที่มีโรคโควิดระบาด แล้วภาครัฐให้เรียนออนไลน์ แต่เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้จัดส่งครูไปสอนแบบที่บ้าน โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคโควิด-19 ให้ด้วย รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล บุคลิกภาพ ความชอบหรือไม่ชอบ หรือข้อจำกัดส่วนบุคคลของเด็กพิเศษเหล่านี้เอาไว้ด้วยเพราะตอนนี้มีการระบาดโรคหนักขึ้น หากเกิดการติดเชื้อจะได้เป็นฐานข้อมูลให้กับบุคลากรการแพทย์ในการดูแล เพราะต้องยอมรับว่าบางครอบครัวมีข้อจำกัดไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ทุกคน แต่คนไหนที่ทำได้ ทางศูนย์ฯ ก็พร้อมให้การช่วยเหลือดูแลในส่วนที่ทำได้ เช่นการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันเราก็เริ่มวางแผนเตรียมการเพื่อที่จะรับมือหากจำเป็นต้องแยกเด็กออกมาเข้าสู่การดูแลรักษา และกำลังมองแนวทางในการปรับสถานที่ของโรงเรียนบางจุดเพื่อเป็นหน่วยดูแล พักคอยรอส่งต่อในเบื้องต้นเอาไว้ด้วย
ขณะที่ นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมามูลนิธิฯได้ทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานในพื้นที่อำเภออัมพวา ทั้งสภ.อัมพวา บ้านพักเด็กและครอบครัว สมุทรสงคราม ศูนย์การศึกษาพิเศษ วัดบางกะพ้อม สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เพื่อออกแบบการทำงานเชิงป้องกันลดปัญหาสังคม เห็นความสำคัญต่อปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่เปราะบางรวมถึงเด็กพิการเด็กพิเศษ ภายใต้คณะทำงาน “อัมพวาโมเดล” มี พ.ต.อ.เผด็จ ภูบุปผากาจนผกก.สภ.อัมพวา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ กำหนดจุดเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ช่วยไปหลายเคสในช่วงโควิด และมูลนิธิฯได้ร่วมกับเพจอีจัน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และสสส.จัดหาสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือครอบครัวเด็กพิเศษที่เผชิญความยากลำบาก51ครอบครัว ซึ่งอยู่ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจะทยอยส่งมอบสิ่งของภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯ อยากเห็นการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ มีการวางแผนวาดฉากสถานการณ์ปัญหาเพื่อเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ