“แรงงานข้ามชาติ” ปัญหาบิ๊ก ยิ่งวิกฤตในวันที่ต้องเผชิญ “โควิด-19”

แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าว ถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมาระบบการจัดการแรงงาน ยังคงมีปัญหาทั้งในมิติของนายจ้าง และการสนับสนุนของรัฐบาล อาทิเช่น  แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากนายจ้างพยายามเลี่ยงต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่ครอบคลุมแตกต่างไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบประกันสังคม หรือการให้สวัสดิการต่างๆ 

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบเชื่อมโยงและทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19  ในช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร ผนวกกับการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทําให้โรคเกิดการแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งกลุ่มการระบาดสำคัญ อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานที่ก่อสร้าง และตลาดสดซึ่ง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยสาเหตุสำคัญที่ทําให้เกิดการแพร่กระจายโรคไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงงานดังกล่าวพักอาศัยอยู่รวมกัน และมีความเป็นอยู่อย่างแออัด รวมทั้งอาจขาดการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลที่เคร่งครัด จึงทําให้เกิดการแพร่กระจายโรคเป็นวงกว้าง ขยายไปในจังหวัดต่างๆ

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค : ผู้ป่วยต่างด้าวที่เป็นโรคโควิด-19 ที่พบมากสุดคือ ผู้ป่วยชาวเมียนมา พบร้อยละ 88.8 ของผู้ป่วยต่างด้าวทั้งหมด รองลงมาคือ กัมพูชาร้อยละ 5.8 ลาวร้อยละ 5.4 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 14,465 ราย และมีผู้ป่วยจำนวนสะสม 23,935 ราย

 แรงงานต่างด้าวกับระบบประกันสุขภาพ

ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 ม.ค. – 31 พ.ค. 2564 มีคนต่างด้าวลงทะเบียนออนไลน์เพื่อตรวจคัดกรองโรค
โควิด-19 พร้อมทำบัตรประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่
29 ธ.ค. 2563 มีทั้งสิ้นจำนวน 654,864 คน แบ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อ (มีนายจ้าง) 601,027 คน และยังไม่ดำเนินการอีก 53,837 คน ซึ่งในจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อแล้วพบว่า มีการลงข้อมูลซ้ำซ้อนถึง 50,972 คน เป็นคนที่อยู่บริเวณแนวชายแดนและเดินทางกลับไปแล้ว 29,000 คน เป็นผู้ติดตาม
25,000 คน รวม 104,972 คน ทำให้คงเหลือคนต่างด้าวที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 496,055 คน

โดยล่าสุดมีการดำเนินการดังนี้

  • จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 485,263 คน
  • มีการตรวจโรคโควิด-19 แล้ว 339,331 คน
  • ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน (บต.48) แล้ว 239,654 คน
  • จัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติแล้ว 52,326 คน  

ทั้งนี้อัตราค่าใช้จ่ายที่แรงงานต่างด้าวต้องจ่ายในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 รวมถึงการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพมีดังนี้

  1. แรงงานต่างด้าวกิจการทั่วไปที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม คนละ 6,500 บาท

(ค่าตรวจโควิด 2,300 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 1,000 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี คนละ 3,200 บาท โดยบัตรจะมีอายุสิ้นสุด 13 ก.พ. 2566)

  • แรงงานต่างด้าวที่ประกอบกิจการประมงทะเล คนละ 6,600 บาท

(ค่าตรวจโควิด 2,300 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 1,100 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี คนละ 3,200 บาท โดยบัตรจะมีอายุสิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 2566)

 คลัสเตอร์ต่างด้าวกับการแพร่ระบาดโควิด-19  

จากการประมาณการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล มีคนต่างด้าว อาศัยอยู่ประมาณ 1,318,641 คน เฉพาะที่ถูกต้องตามกฎหมาย กระจายอยู่ใน 6 จังหวัด แยกเป็น กทม. มีประมาณ 580,000 คน  สมุทรสาคร 230,000 คน  สมุทรปราการ 160,000 คน  ปทุมธานี 130,000 คน  นนทบุรี 99,000 คน  และนครปฐม 93,000 คน นอกจากนี้ ยังมีที่ไม่ถูกกฎหมายอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีอีกประมาณ 3 เท่าของจำนวนแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย อาศัยอยู่ใน กทม. โดยเขตที่มีแรงงานต่างด้าวมากสุด จำนวน 5 เขต บางขุนเทียน หนองแขม บางบอน บางแค และจอมทอง ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีรายงานเป็นจำนวนมาก

   3 พื้นที่ เฝ้าระวังคลัสเตอร์ต่างด้าว  

  1. สถานที่ก่อสร้าง : จากการสำรวจข้อมูลที่พักแรงงานก่อสร้างในเขต กทม. พบว่า มีแคมป์คนงาน 409 แคมป์ กระจายอยู่ในทุกเขต มีคนงาน 62,169 คน เป็นคนไทย 26,134 คน (ร้อยละ 42.1) ต่างด้าว 36,035 คน (ร้อยละ 57.9)
  2. ตลาดสด : จากข้อมูลตลาดสดที่กระจายอยู่ทั่วทุกเขตใน กทม. พบว่า มีตลาดสดเอกชนทั้งหมด 433 แห่ง โดยคาดประมาณจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานช่วยขายและเข็นของอยู่ในตลาด ประมาณ 45,000 คน และเขตที่มีจำนวนตลาดสดมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง เขตบางขุนเทียน  และเขตบางแค ตามลำดับ
  3. โรงงานอุตสาหกรรม : เขตที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก มักเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีการตรวจเชิงรุก โดยใน กทม. มีการตรวจเชิงรุก จำนวน 128 แห่ง และมีจำนวนแรงงานที่เข้ารับการตรวจเชิงรุก 21,458 ราย ผลพบติดเชื้อโควิด 77 ราย หรือร้อยละ 0.36

   ผลกระทบ-ปัจจัยเสี่ยง  

 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ใน กทม. แบ่งเป็น

  1. แรงงานต่างด้าวที่มีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวและครอบครัวที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้างและตลาดสด
  2. แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือทำผิดกฎหมายในประเทศไทย
  3. ผู้ต้องขังแรกรับ รวมถึงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ต่อมาตรวจพบว่าต้องคดี
  4. แรงงานต่างด้าวที่อาศัยรวมกันในพื้นที่แออัด  

 ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

  1. สถานที่ทำงานอยู่ในตลาดที่มีการติดตั้งแผงตลาดติดๆ กัน 
  2. ที่พักอาศัยมีลักษณะแออัด
  3. ผู้ค้าขายชาวต่างประเทศในตลาด เช่น ตลาดพลอยบางรักที่เชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีชาวแอฟริกันเข้ามาค้าขายหลายราย ทำให้มีการสัมผัสและแพร่เชื้อในร้านขายพลอย 
  4. การสุขาภิบาลในตลาดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เช่น อากาศไม่ถ่ายเท โครงสร้างอาคารที่เชื่อมติดต่อกัน ทำให้ไปมาหากันได้ง่าย
  5. แคมป์คนงานก่อสร้างที่มีความแออัด ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน อยู่รวมกัน และทำกิจกรรมในพื้นที่ใกล้ชิดกัน เช่น การรับประทานอาหาร
  6. พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าในตลาด ที่มีโอกาสสัมผัสสารคัดหลั่ง

  มาตรการ 3 ด้าน : ป้องกัน-ควบคุม-รักษา

ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กรมอนามัย กรมควบคุมโรค สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เจ้าของโครงการก่อสร้าง รวมถึงเจ้าของสถานประกอบการรายย่อย ได้มีการออกมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคในกลุ่มคนต่างด้าว ตลอดจนการจัดทำแนวปฏิบัติในการป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งมาตรการทางสาธารณสุข มาตรการทางสังคม และมาตรการการดูแลรักษา เช่น การจัดทำฐานข้อมูลแรงงานในชุมชน/ที่พัก และผู้ติดเชื้อโควิด 19, การตรวจคัดกรอง สอบสวนโรค และติดตามผู้สัมผัส, การปรับปรุงระยะเวลาการรอคอยในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม, การจัดหาสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นแรงงานต่างด้าว หลังตรวจพบว่าติดเชื้อ และหลังกลับจากโรงพยาบาล, การให้คำปรึกษาแก่แรงงานต่างด้าวขณะกักตัวและหลังกักตัว ตลอดจน การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ หรือการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีชีวิตของแรงงาน ฯลฯ โดยมาตรการสำหรับการดูแลรักษาเมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับการตรวจหาเชื้อ
โควิด-19 จากสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ และได้รับการแจ้งผลการตรวจแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตรับผิดชอบของ กทม. จะลงไปสอบสวนโรคและติดต่อประสานงานเพื่อให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่จัดให้ ผ่านทาง http://colink.gbdi.cloud ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้กักกันตนเอง ใน Factory Quarantine, Camp Quarantine หรือ Camp Isolation แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาล รัฐบาลได้สนับสนุนงบกลาง ภายใต้แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นจำนวน 99,969,400 บาท ในรอบแรก สำหรับผู้ป่วยที่รับไว้รักษาและจำหน่ายระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 –
31 มีนาคม 2564 และรอบที่สอง จำนวน 959,330,400 บาท สำหรับผู้ป่วยที่รับไว้รักษาหลังวันที่ 31 มีนาคม 2564
ซึ่งโรงพยาบาลของรัฐสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมค่ายาต้านไวรัส และชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE)  สำหรับสถานพยาบาลเอกชน ยังอยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลาง

ข้อมูลจาก :

รายงานสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทยหรือต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพและความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ณ เดือนมิถุนายน 2564, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แผนงานประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *