นักวิชาการ จี้รัฐสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคม แก้ปัญหาภัยคุกคามสังคม

นักวิชาการ จี้รัฐสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคม แก้ปัญหาภัยคุกคามสังคม สร้างโอกาสใหม่ แทนการออกกม. ควบคุม ทำให้อ่อนแอ ชี้ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร สร้างความสมดุล ถ่วงดุลในระบบทุนนิยม  

 จากกรณีคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 อนุมัติหลักการของ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…..ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ  ทำให้มีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนถึงเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ที่มีสาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นการควบคุมและจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่าการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง

วันนี้ (15มิถุนายน ) ดร.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ พลังของภาคประชาสังคม เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคมเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ก็ถือเป็นสาขาหนึ่งของภาคเศรษฐกิจ ในประเทศที่เน้นคุณภาพชีวิตของประชาชน จะให้ความสำคัญกับภาคสังคมมาก เพราะมีส่วนในการปิดช่องว่าง ตรวจสอบ ถ่วงดุล ในระบบทุนนิยมที่มักจะมีสินค้าและบริการหลายอย่างที่มีคุณค่า แต่ไม่ค่อยมีมูลค่า เช่น การอ่านหนังสือให้ลูก/เด็กฟังหรือการชวนเด็กๆ เล่นไม่มีมูลค่า แต่การส่งลูกไปเรียนพิเศษจะมีมูลค่า ดังนั้นเพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง เพราะถือเป็นสาขาหนึ่งของภาคเศรษฐกิจ ซึ่ในช่วงปี 2554–2557 อัตราการเติบโตของสาขาภาคประชาค่อนข้างดี คิดเป็นอัตราร้อยละ 5 ของ GDP โดยสัดส่วนค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ0.97 ในปี 2553 เป็นร้อยละ1.11 ในปี 2557

 ดร.เดชรัต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแต่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตของสาขาองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรก็ลดลงอย่างน่าตกใจ โดยปี 2558-2562 อัตราการเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 1-2 ของ GDP ซึ่งลดจากร้อยละ 1.11 ในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 1 ในปี 2562 สถานการณ์ย้อนกลับไปอยู่ที่เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มี อาจจะยังไม่สามารถระบุถึงปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของสาขาองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยทางนโยบาย ปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือปัจจัยทางสังคม ที่อาจจะมีผู้ให้ความสนใจในสาขานี้น้อยลง จึงต้องีการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป
“แต่ผมพอจะบอกได้ว่าสัญญาณดังกล่าวน่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ในภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหา ความท้าทายทางสังคมมากขึ้นเรื่อย เช่น สังคมสูงวัย ความไม่มั่นคงในการทำงาน การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเรียนรู้ของคนรุ่นวัยต่างๆ  จริงๆ แล้วเราควรต้องเร่งเสริมคุณค่า ให้เท่าทันกับมูลค่า ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น แทนที่รัฐบาลจะออกกฎหมายมาครอบงำภาคประชาสังคม รัฐบาลควรเร่งวางแผนพัฒนาสาขาองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ให้สามารถรังสรรค์คุณค่าเดิมและคุณค่าใหม่ เพื่อมาแก้ไขและรับมือกับความคุกคามและโอกาสใหม่ๆ ในสังคม ที่สาขาการผลิตอื่นไม่อาจทำได้ หรือแม้กระทั่ง สร้างปัญหาไว้ให้ภาคสังคมจะเหมาะสมกว่า” ดร.เดชรัตน์ กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *