เปิดใจ 3 ทีมสตาร์ทอัพรุ่นจิ๋วเด็กปั้น ‘NIA’ สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค 2563

นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำธุรกิจยุคนี้ถูกผลัดใบมาสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น รุ่นคุณพ่อ รุ่นแม่ เริ่มขยับออกมาเป็นที่ปรึกษาให้ลูกหลานแบบห่างๆ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เข้ามากุมบังเหียนธุรกิจแทน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้ และนำความทันสมัยไปใช้ในการทำธุรกิจได้ดี ทำให้ธุรกิจทันต่อโลก ทันต่อคู่แข่ง ทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล
นอกจากนักธุรกิจคนรุ่นใหม่จะหาความรู้ด้วยตัวเองแล้วยังมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ พร้อมการปลุกปั้นคนรุ่นใหม่ทั้งนักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้มีความรู้การทำธุรกิจยุคใหม่ หนึ่งในนั้น คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่เดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ มาประดับวงการธุรกิจ ผ่านโครงการ Startup Thailand League ดึงนักเรียน นักศึกษา กว่า 200 ทีม มาจัดแสดงผลงานต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือก จาก 39 มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแข่งขันสุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีคแห่งปี2563 มีทีมที่นำเสนอไอเดียธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 390 ทีม

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มี การมอบรางวัลสุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีคแห่งปี 2563 ไป ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีม Happy Grocers จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานร้านขายของชำออนไลน์ สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และไม่สร้างขยะ โดยเจ้าของผลงาน คือ“สุธาสินี สุดประเสริฐ และ “ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย” ได้เล่าถึงความสำเร็จให้ฟังว่า โครงการนี้ถือว่าทีมได้เข้าไปเป็นตัวกลาง เสมือนสะพานเชื่อมระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์รายเล็กๆ ที่เข้าถึงตลาดได้ยาก ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ จำนวน 3 ชุมชน มีเกษตรกรประมาณ 50-60 ราย รับป้อนสินค้าเกษตรให้กับลูกค้าในเมืองหลวงในพื้นที่ สุขุมวิท วิทยุ สาทร เอกมัย อารีย์ ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติรายย่อยถึง 95%
ข้อดีของโครงการเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กให้มีช่องทางการขาย ผ่านออนไลน์ เว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการซื้อขาย นอกจากนี้ยังมีเฟซบุ๊ก และ IG ช่วยในการทำตลาดออนไลน์ด้วย ปัจจุบันยังรับเป็นพรีออเดอร์ 2 วันส่งสินค้า 1 ครั้ง ที่สำคัญสินค้าของเกษตรกรสามารถขายได้ทั้ง 100% ซึ่งหากเทียบกับการนำสินค้าไปขายให้พ่อค้าคนกลางที่มีการคัดเกรด ถ้าผักหรือผลไม้ตกเกรด หรือไม่สวยก็จะขายไม่ได้ทำให้เกิดความเสียรายได้กับเกษตรกร ส่วนผู้บริโภคก็ได้ผักและผลไม้ตามฤดูกาลแบบอินทรีย์ไว้รับประทาน และในอนาคตอาจเพิ่มความถี่ในการส่งสินค้า และมีหน้าร้านจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ กทม. ที่สำคัญแพคเกจจิ้งก็จะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่ายไม่ก่อให้เกิดขยะ
ส่วนการเข้าร่วมโครงการก็ได้ความรู้มากมายในการวางแผนธุรกิจยุคใหม่ ได้คำแนะนำที่ดีจากคณะกรรมการที่ให้แก้ไขปรับปรุงจนทำให้ชนะเลิศได้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าโครงการสามารถจับต้องได้จริง เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนคำแนะนำสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่คิดไอเดียไม่ออก แนะนำว่าการคิดไอเดียอย่ามองว่าแค่ว่าชอบอะไร ให้มองว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง อาจเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนก็ได้ มั่นหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แล้วนำมาพัฒนาต่อยอด
ต่อมารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Automa จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงาน Zoocial หุ่นยนต์เลี้ยงสัตว์ โดย “บุณฑริกา สุวรรณทีปรัชต์” ตัวแทนจากทีมAutoma กล่าวว่า Zoocial หุ่นยนต์เลี้ยงสัตว์ เมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเชิงพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเกิดจากการสื่อสารของตัวเอง ในครอบครัว และมักขยายวงกว้างไปในระดับสังคม Zoocial หุ่นยนต์ที่เป็นมากกว่าของเล่นเป็นรูปสัตว์ 7 ชนิด Zoocial ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญ โดยทำหน้าที่เป็นตัวเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมของเด็กผู้ใช้งาน และทำการย่อยข้อมูลให้ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์ในลำดับต่อไป

จุดเด่นของ Zoocial อยู่ที่ Artificial Hormones ซึ่งสามารถเรียนรู้พฤติกรรม และตอบสนองเด็กออกมาได้ด้วยตัวของหุ่นยนต์เอง ซึ่งในอนาคต Automa มีแผนที่จะขยายขอบเขตการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการสื่อสารในเด็ก แต่รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือ แม้กระทั่งบุคคลทั่วไปก็มองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ Zoocial จะเข้าไปมีบทบาท และช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาเหล่านั้น ส่วนการเข้าร่วมโครงการกับ NIA ได้รับประสบการณ์อย่างมากได้ความรู้มากกว่าในห้องเรียน มีโอกาสได้เห็นมุมมองใหม่ๆ รวมถึงมีโอกาสได้พบเจอนักลงทุนที่จะมาลงทุนร่วม นอกเห็นจากนี้ยังได้เห็นไอเดียทีมอื่นๆ ด้วย ส่วนการหาไอเดียทำธุรกิจใหม่นั้นจะต้องเริ่มเห็นปัญหาก่อน และหาทีมร่วมงานที่ดี มีความหลากหลาย
ขณะที่ ‘รัชฎ์ รุ่งนิรันดร’ ตัวแทนจากทีม Termtem ทีมชนะเลิศอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ไอเดียธุรกิจเกิดจากกลุ่มนักศึกษาที่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาเเก้ไขปัญหาสิ่งเเวดล้อมในประเทศไทย เพื่อลดขยะจากการใช้ Single-use พลาสติก เเละอยากจะสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสิ่งดีๆให้กับโลกของเราจึงริเริ่ม Green Startup “Termtem” Delivery refill service ขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยเปลี่ยนการรักโลกให้เป็นเรื่องที่ง่าย เเละสะดวกสบาย โดยเราจะช่วย “เติม” ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของคุณให้ “เต็ม” อยู่เสมอ ฟรีถึงที่พักอาศัย ผ่านระบบรถรีฟีลที่ทำงานร่วมกับ Termtem Line@
อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมโครงการนี้สิ่งที่ได้มากกว่ารางวัลคือความรู้ ได้เข้าใจแผนธุรกิจ เข้าใจเรื่องลูกค้ามากขึ้น รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ในการทำธุรกิจ เช่นการบริหารความคุ้มค่า ทำยังไงให้ธุรกิจออกมาดี ได้เปิดโลกเห็นการทำงานของทีมสตาร์ทอัพทีมอื่น แนะนำว่าการที่จะคิดไอเดียออกควรกล้าที่จะคิด กล้าลอง ผิดก็เรียนรู้ใหม่ มุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *