นวัตกรรมสร้างอาหาร…โลกไม่มีวันหิวโหย

COVID-19 ไม่ได้ส่งผลเสียในทุกธุรกิจเสมอไป ธุรกิจอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่แพ้กับธุรกิจอื่นๆ นอกจากนี้ ยังต้องเจอกับตัวแปรอื่นๆ เช่น ภาวะโลกร้อน แต่หากเรามองให้วิกฤตเป็นโอกาส การเติบโตของธุรกิจในยุค COVID-19 ก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน

คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ

3 ผู้บริหารแนวคิดใหม่ ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง noBitter คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด และคุณสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด คือผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสในช่วง COVID-19 และปรับธุรกิจของตัวเองให้รอดมาได้อย่างสวยงาม ภายในงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ทั้งสามท่านมาบอกเล่าวิธีการผ่านพ้นวิกฤตของธุรกิจอาหารมาได้อย่างไร? และเส้นทางต่อไปของธุรกิจอาหารที่ต้องคำนึงถึง

เมื่อมีวิกฤต โอกาสย่อมเกิดขึ้นตามมาเสมอ COVID-19 ส่งผลต่อธุรกิจจำหน่ายผักของ ดร.วิลาส ซึ่งกำลังจะเปิดสาขาสองเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2 กิโลกรัมให้เป็น 20 กิโลกรัม แต่เมื่อ COVID-19 มาเขามองไปถึงสถานการณ์ที่จะเกิดไว้ 3 ระดับ คือ หนึ่ง ปิดเมืองแต่ยังทำงานได้ พนักงานก็ยังเข้ามาจัดผักส่งลูกค้าได้ สอง ล็อคดาวน์การขนส่งใช้งานไม่ได้ เราจะระบายผักอย่างไร สาม ทุกคนไม่สามารถมาทำงานได้เลย สำหรับเมืองไทยแล้วเราอยู่ในแค่ระดับหนึ่ง คือ ยังทำงานได้อยู่ ปัญหาต่อมาคือการขนส่งผัก การขนส่งแบบ SAMEDAY ค่าขนส่งแพงมากก็ต้องมองหาการขนส่งรูปแบบอื่นก็ได้แบบ Next Day Delivery แต่ปัญหาคือผักจะอยู่ได้อย่างไร ทุกปัญหาก็ทำให้เราค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ ดร.วิลาสพบถุงยืดอายุผักผลงานวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำให้การพัฒนาการขนส่งสินค้าของ noBitter ก้าวไปอีกขั้น COVID-19 ยังทำให้เราเห็นว่าคนยอมจ่ายเรื่องสุขภาพมากขึ้นและเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน

การพัฒนาตัวเองเพื่อหนีจากวิกฤต COVID-19 ของวีฟู้ดส์ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก noBitter วีฟู้ดส์ไม่เคยทำตลาดออนไลน์มาก่อน แต่เมื่อ COVID-19 มาร้านตามแหล่งท่องเที่ยวจำหน่ายไม่ได้เลย จึงหันมาทำการตลาดออนไลน์ โดยให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านไลน์ออฟฟิเชียลที่ชื่อวีฟาร์ม และได้จัดชุดสินค้าให้เป็นชุดๆ อย่าง สเตย์โฮม, เวิร์กฟอร์มโฮม แต่การจะจำหน่ายแต่ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเพียงอย่างเดียวอาจจะตอบโจทย์ลูกค้าไม่ได้ทุกกลุ่ม ก็เริ่มมองหาสินค้าจากแบรนด์อื่นๆ เข้ามาร่วม อย่าง จับมือกับ มอร์ มีต ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีอาหารมาพัฒนาพืชให้เป็นโปรตีนเพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพ หรือการส่งเสริมเกษตรในช่วง COVID-19 เขาไม่รู้จะจำหน่ายสินค้าได้ยังไง ก็เอาลูกเดือดมาอบแห้งจำหน่ายให้ จริงๆ อภิรักษ์ มองเรื่องการทำตลาดออนไลน์มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสทำพอเจอ COVID-19 การทำออนไลน์เกิดขึ้นทันที
เมื่อ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างเหมือนถูกบังคับไปโดยอัตโนมัติ ก็เหมือนกันกับนิธิฟู้ดส์ ที่เมื่อ COVID-19 มาทำให้ลูกค้าต่างประเทศหยุดการสั่งซื้อ นิธิฟู้ดส์มีปัญหาเรื่องการส่งออกทันที แต่ข้อดีของการสั่งปิดเมืองทำให้คนไทยต้องหาซื้อสินค้าสต๊อกไว้ที่บ้าน ทำให้ยอดการผลิตช่วงนั้นเพิ่มขึ้น แต่พอสถานกาณ์คลี่คลายความต้องการสินค้าก็ลดลง แต่สมิตรู้แล้วว่าเขาจะพึ่งพาตลาดออฟไลน์อย่างเดียวไม่ได้เขาต้องมุ่งออนไลน์ด้วย ความเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่ทำให้เมื่อเจอวิกฤตสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทัน ก่อนหน้า COVID-19 เขาได้แตกไลน์ธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์จากพืชในชื่อ Let’s Plant Meat เพราะมองว่าทุกวันนี้มีโรคติดต่อจากสัตว์เพิ่มมากขึ้นคนไม่นิยมเนื้อสัตว์ โดยจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์

หลังจากอยู่ในสถานการณ์ที่พอจะควบคุม COVID-19 ได้แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 อยากได้จากภาครัฐ คือ อยากให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยได้มีโอกาสเจอกัน จริงๆ งานวิจัยในไทยมีมากแต่ไม่มีโอกาสที่เขาทั้งสองฝ่ายจะได้เจอกัน และอยากให้ภาครัฐส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรให้เกิด ที่สำคัญอยากให้ลดค่าโลจิสติกส์ลงเพื่อไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ
ในมุมมองของผู้ประกอบการทั้ง 3 ท่านจะเห็นได้ว่า ธุรกิจอาหารสุขภาพมีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น มาที่แบรนด์ใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ก็มองไม่แตกต่างกัน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า Flexitarian หรือการทานมังสวิรัติเป็นครั้งคราวกำลังเติบโต คนเริ่มมองหาอาหารที่ทำให้อายุยืนยาว ต่อไปอาหารจะไม่ใช่แค่ทำให้อิ่ม แต่ประโยชน์ของอาหารจะต้องเกิดขึ้นในหลายๆ มิติ หลักสำคัญที่ทำให้อาหารขายได้ คือ ต้องอร่อย ไม่แพง ดีต่อสุขภาพ และไม่ทำลายธรรมชาติ
ตลาดอาหารในช่วง COVID-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนสนใจสุขภาพมากขึ้น ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ก็หันให้ความสำคัญมากขึ้น มีการทำน้ำมันสกัดจากหัวปลาทูน่า การทำทูน่าสไลด์ หรือการวิจัยเอาพืชมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์
แม้วันนี้ธุรกิจอาหารจะหาทางออกจากวิกฤต COVID-19 ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ผู้ประกอบการอาหารทุกรายที่หาทางออกให้กับเองได้ วันนี้เทคโนโลยีด้านอาหาร (Foodtech) เติบโตไปมาก ผู้ประกอบการที่ไม่อยากถูกทิ้งอยู่ข้างหลังต้องปรับตัวเองให้เท่าทันกับเทคโนโลยีอาหารที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *