สสส. จับมือเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาปี 63

สสส. จับมือเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาปี 63 ชวนคนไทยใช้ ‘สติสู้วิกฤต’ เปลี่ยนวิกฤต ‘เสี่ยง’ เป็น ‘สร้างเสริม’ สุขภาพ เน้นเสริมพลังชุมชนด้วยกระบวนการ 3 ช. ชวน ช่วย เชียร์ ภายใต้แนวคิด “มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต” ภาคเด็กและเยาวชน ผนึกกำลัง สพฐ. ชวนเด็กไทยเขียนจดหมายสื่อรักชวนพ่อแม่เลิกเหล้า เผยตัวเลขปีที่ผ่านมา ลด ละ เลิกเหล้าประหยัดเงินได้มากกว่า 8,000 ล้าน ในขณะที่ ปชช. ร้อยละ 90 เห็นด้วยว่าการรณรงค์ช่วยลดปริมาณการดื่มลงได้

เมื่อเร็ๆนี้ ณ ห้องประชุม Auditorium สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2563 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด19 และการสร้าง New Normal โดยใช้แนวคิด“งดเหล้าเข้าพรรษา มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต” จัดโดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ทำให้ช่วงเวลาของเข้าพรรษาปีนี้มีความแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา สสส.อยากเชิญชวนให้ทุกคนใช้โอกาสสำคัญคือวันเข้าพรรษาที่จะมาถึงนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพ เปลี่ยนช่วงเวลาเสี่ยงมาเป็นเวลาแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ โดยปีนี้เราเน้นเรื่องของการใช้ ‘สติ’ ในการสู้วิกฤต เพื่อให้คนไทยตระหนักและตื่นตัวในการหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิต ดูแลสุขภาพ งดเหล้า เอาใจใส่ตัวเองให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้สติในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการจัดการรายได้-รายจ่าย ซึ่งการลดการดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้มีเงินเหลือและเกิดเงินออมมากขึ้นอีกด้วย
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562” โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) โดยการสนับสนุนของ สสส. ในช่วงเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 31.0 สามารถงดได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา กลุ่มที่งดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) มีร้อยละ 10.2 และกลุ่มที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง มีร้อยละ 12.3 ซึ่งหากดูในรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีที่ผ่านมามีร้อยละ 5 ที่ตั้งใจจะเลิกไปเลย โดยกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยให้ประเทศไทยลดปริมาณการดื่มลงได้ นอกจากนี้ กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น โดยมีครึ่งหนึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ประมาณการจำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ที่ 8,251 ล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มที่งดไม่ครบพรรษา ให้เหตุผลสำคัญว่ามีคนชวนดื่ม ขัดไม่ได้ ต้องไปงานเลี้ยง ชอบเที่ยวสังสรรค์ รวมถึงดื่มเป็นประจำ/ ดื่มจนติด (อดไม่ได้) และยังมีนักดื่มร้อยละ 46.5 ที่ดื่มไม่ต่างจากเดิม ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจะต้องทำงานและช่วยเสริมกำลังในการรณรงค์กันต่อไป

ปาฐกถาธรรมพิเศษจาก พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มนักดื่มประจำ (ดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) มากขึ้น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6.98 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีภาวะความเสี่ยงต่อการมีปัญหาและการติดสุราสูง กว่า 1.71 ล้านคน (ดื่มหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) วิธีการรณรงค์ มี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบเชิญชวนผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ และ รูปแบบที่เน้นการทำงานเชิงลึกกับพื้นที่ชุมชน โดย ปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ในช่องทางการประชาสัมพันธ์เราจึงชูประเด็นรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก โดยใช้แนวคิด “งดเหล้าเข้าพรรษา มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต” ซึ่งได้มีการผลิตสื่อสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผ่านช่องทางต่างๆ ทั่วประเทศ

นายธีระ กล่าวต่อว่า ในส่วนการทำงานเชิงลึกร่วมกับชุมชนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักดื่มประจำ ขณะนี้มีชมรมคนหัวใจเพชร (คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต) จำนวน 142 ชมรม และมีนายอำเภอนักรณรงค์ 158 ท่าน พร้อมคณะทำงานระดับอำเภอตำบล หมู่บ้านจะช่วยกันด้วย กระบวนการ 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ โดยก่อนเข้าพรรษา จะมีการเชิญชวนคัดกรองผู้ที่ต้องการลดละเลิก โดยจะเน้นผู้ที่ดื่มเป็นประจำ ซึ่งจะต้องมีการชวนแบบเคาะประตูบ้าน จับเข่าคุยเพื่อโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ที่จะได้ และช่วยลดปัญหาในครอบครัวชุมชน จากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมปฏิญาณตนบวชใจ เสริมพลังในชุมชน ในระหว่างพรรษาจะมีการติดตามเยี่ยมเยือนให้กำลังใจเป็นขั้นตอนของการช่วย และพอออกพรรษาจะเป็นการเชียร์ หรือยกย่องสนับสนุนให้ลดละเลิกได้ต่อไป
ขณะที่ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดเกือบ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเข้าร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีนี้ปีที่ 11 ภายใต้ โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อชีวิตของคนในสังคม สู่การเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาคนที่ดื่มไปพร้อมกัน ทั้งนี้เมื่อผู้ปกครองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทบเกิดปัญหาคุณภาพชีวิตในครอบครัว ก็จะเชื่อมโยงมาถึงคุณภาพการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน โดยเฉพาะการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ ก็มีผลมาจากการ ซึมซับพฤติกรรมจากครอบครัวด้วยเช่นกัน สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา เราใช้กิจกรรมจดหมายสื่อรักลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า และเก็บข้อมูลหลังออกพรรษา 377 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ปกครองงดเหล้าครบพรรษา 16,691 คน ผู้บริหารและคุณครูงดเหล้าครบพรรษา 4,662 คน มีนักเรียนเขียนจดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้า 22,722 คน และนักเรียนที่พ่อแม่ไม่ดื่มก็เขียนจดหมายขอบคุณ 21,997 คน และได้นำกรณีศึกษาที่พ่อเลิกเหล้าได้มาทำสื่อเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์
สำหรับปี 2563 กิจกรรมโพธิสัตว์น้อยจะนำเครื่องมือชุดกิจกรรมเรียนรู้รณรงค์จำนวน 6 กิจกรรม ให้นักเรียนรุ่นพี่ไปสอนรุ่นน้อง ช่วยให้พ่อแม่งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวทาง “พี่สอนน้องช่วยพ่อแม่หยุดเหล้า เราจะหยุดโควิด19” ทำให้คนมีสติ ลดรายจ่าย และฝึกการพึ่งตนเองได้แม้เกิดวิกฤต ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการติดไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีปาฐกถาธรรมพิเศษจาก พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ในหัวข้อ“งดเหล้า ฝึกสติ เพิ่มสมรรถนะความเป็นคนเพื่อสู้ให้ได้ในวิกฤต” และการเปิดตัวสปอตโทรทัศน์ชุด ‘สติ’ และสปอตวิทยุชุด ‘คาถาเรียกสติฝ่าวิกฤต’ โดย 3 พระนักเทศน์ชื่อดังของเมืองไทย พระมหาสมปอง ตาลปุตโต, พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) และพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) โดยจะเริ่มออกอากาศรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. นี้เป็นต้นไป

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *