วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เนื่องจากตอนนี้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ….อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ โดยมีการรายงานผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งลดทอนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การขยายเวลาการจำหน่าย การอนุญาตให้โฆษณา ฯลฯ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการในสาขาต่างๆ ทั้งเศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สังคมศาสตร์ และคณาจารย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับเยาวชน รวมถึงนักการศาสนา มีความเป็นห่วงผลกระทบทางลบที่จะเกิดตามมา หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ลักษณะนี้ จึงร่วมกันลงชื่อกว่า 1,000 รายชื่อ เพื่อเสนอความเห็นและข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค 4 ข้อ
1. ในด้านเศรษฐศาสตร์ เสรีภาพในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักก่อให้เกิดความเสียหาย และละเมิดต่อสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การฆ่าข่มขืน การบาดเจ็บ ทุพพลภาพ เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ ถูกทำความรุนแรงทางร่างกาย นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคจำนวนมากและเป็นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพแรงงาน และงบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องแทรกแซง เพื่อลดการดื่มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2. ด้านการแพทย์ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และจดจำ การดื่มปริมาณมากอาจทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องถาวร เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคและภัยสุขภาพ ทั้งนี้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3 ล้านคนต่อปี ส่วนประเทศไทย การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มีการเปิดเผยผ่านสื่อเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 พบว่า แต่ละปีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดต้นทุนความเสียหายกว่า 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ 9.4 หมื่นล้านบาท อุบัติเหตุทางถนน 5.3 หมื่นล้านบาท การบาดเจ็บต่าง ๆ 1.7 หมื่นล้านบาท
3. ด้านสังคมศาสตร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ดื่มและครอบครัว เพราะเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้ในสิ่งจำเป็น เมื่อพิจารณามิติผลกระทบต่อเยาวชน การศึกษาในต่างประเทศพบว่า การดื่มในวัยรุ่นมีความเกี่ยวพันกับภาวะซึมเศร้า การขาดเรียน ผลการเรียนตกต่ำ รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า การที่พ่อแม่ดื่มเหล้า ส่งผลให้ลูกมีปัญหาด้านอารมณ์ รวมถึงมีแนวโน้มติดเหล้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และ 4. ด้านศาสนา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ผิดหลักคำสอนของทุกศาสนา เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความมึนเมา ขาดสติและการยับยั้งชั่งใจ จึงเป็นสาเหตุของความเสียหายทั้งต่อตนเอง และสังคม
ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว แถลงการณ์นี้จึงมีข้อเสนอแนะต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองทุกพรรค ดังนี้
1.ควรคงมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านอายุ เวลา และสถานที่
2. ห้ามการโฆษณา ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า มาตรการด้านภาษี การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามการโฆษณา เป็น 3 วิธีที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และ 3. เร่งปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้ การหวังพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสินค้าอบายมุข เป็นแนวนโยบายสาธารณะ ที่ผู้แทนปวงชนและรัฐบาลพึงสังวร เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางความคิด รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคม