ภรรยาเหยื่อเมาแล้วขับ สื่อสารถึง “อุ๊งอิ๊ง” วอนทบทวนนโยบายเหล้าเสรี

ภรรยาเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายผู้ปกครอง เด็ก สตรี และครอบครัว สื่อสารถึงอุ๊งอิ๊ง หวังความเป็นแม่-ภรรยา จะเข้าใจหัวอกผู้สูญเสีย วอนทบทวนนโยบายเสรีเหล้าเบียร์กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ขอหนุนให้สภารับหลักการทุกร่าง พ.ร.บ. คุมน้ำเมา เข้าไปพิจารณาในกรรมาธิการ​

วันที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ภาคีเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ องค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว ผู้ปกครองในสถานศึกษา กลุ่มสาขาอาชีพ กว่า 60 คนส่งตัวแทนเพื่อเข้าพบนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อสะท้อนข้อกังวลต่อการปล่อยเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีข่าวว่าในวันที่ 27 มีนาคม นี้ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกล จำนวน 3 ฉบับไปรออยู่ก่อนแล้ว และกำลังจะมีร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของกระทรวงสาธารณสุข เข้าสู่การพิจารณาด้วยนั้น ซึ่งสอดรับกับการที่นายกรัฐมนตรีเร่งเดินหน้านโยบายให้ยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแก้ไขกฎหมายที่อ้างว่าเป็นอุปสรรคในทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ​​​​

นางรัชฐิรัชฏ์ ซุ่นสั้น ภรรยาตำรวจเหยื่อเมาแล้วขับ จ.ตรัง เมื่อหกปีที่แล้ว กล่าวว่าตนเดินทางมาจากจังหวัดตรัง อยากมาขอพบคุณอุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หวังว่าด้วยความเป็นแม่ของลูก เป็นภรรยา น่าจะเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสียอย่างเราได้ ดีกว่านายกซึ่งคงมองไม่ค่อยเห็นพวกเรา และคงมุ่งไปแต่ทางเศรษฐกิจ มากกว่าชีวิตคน พวกเรายอมรับว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นเร่งด่วน การกระตุ้นการท่องเที่ยวมันจำเป็น แต่อะไรคือความสมดุลระหว่างมิติทางสังคมกับเศรษฐกิจ เพราะต่อให้เศรษฐกิจเติบโตแค่ไหน หากในแต่ละวัน มีคนบาดเจ็บล้มตาย พิการ อาชญากรรมพุ่ง ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่ม ความสงบสุขหาไม่เจอ ภาระทางการแพทย์ การรักษาเพิ่มพรวด มันจะคุ้มกันจริงหรือไม่“ส่วนตัวเชื่อว่าหากรัฐบาลนี้ปล่อยเสรีกินดื่ม ขาย ทำการตลาดมากขึ้น จะเป็นตราประทับไปตลอดกาลว่าทำไปเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อนายทุน นักธุรกิจร้านเหล้าผับบาร์ บทเรียนจากเรื่องกัญชาก็มีอยู่แล้วตอนนี้เป็นไงผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติดเต็มเมือง แล้วจะมาตามแก้กันทีหลังมันก็ยากมาก นี่คือความผิดพลาด และเรื่องเหล้าเบียร์ไม่ควรเดินซ้ำรอยนี้ สังคมไทยจะเสียหายมาก อยากวิงวอนให้หัวหน้าพรรคช่วยส่งสัญญาณไปถึงนายกให้ทบทวนเรื่องเสรีน้ำเมา เพราะไม่คุ้มเลย”นางรัชฐิรัชฏ์ กล่าว

ด้านนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. กล่าวว่า ด้วย “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นสารเสพติดถูกกฎหมายที่สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบในทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งต่อตัวบุคคล ต่อครอบครัว ต่อสังคม ชุมชน และต่อประเทศชาติ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของความเจ็บป่วยต่าง ๆ กว่า 230 ประเภท เช่น โรคตับแข็ง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคทางจิตประสาท รวมถึงปัญหาสังคม อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสารเสพติดที่มีผลกระทบโดยรวมมากที่สุด และมีผลกระทบต่อผู้อื่นมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่น เช่น โคเคน,ยาบ้า,บุหรี่,เฮโรอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

“ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บังคับใช้มานานกว่า 16 ปี คงถึงเวลาต้องปรับปรุง แต่ก็ไม่ควรผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ธุรกิจ ร้านเหล้าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของกฎหมายฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยจึงควรตระหนักในเรื่องนี้ และสิ่งที่อยากให้พิจารณาควบคุมไปกับการปรับแก้กฎหมายคือ การเพิ่มโทษคนเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตต้องติดคุกกันจริง และการมีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อจากน้ำเมาทุกรูปแบบ มิใช่มุ่งแต่จะลดทอนการควบคุมแต่ไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไขกันเลย” นายเจษฎา กล่าว

ด้านนายธีระภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีมาตรการสอดคล้องกับการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เรียกว่า SAFER ขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ ทั้งสถานที่ บุคคล ช่วงเวลา การควบคุมโฆษณา-ส่งเสริมการขาย และการคัดกรอง บำบัด รักษาผู้ติดสุรา เป้นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ หลังมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2550 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่ม 18 ล้านคน หรือ 30.02% ล่าสุดข้อมูลปี 2564 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่ม 15.9 ล้านคน หรือ 28.0%

“ปัจจุบันร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างนี้เข้าไปด้วย ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) และองค์กรเครือข่าย จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อท่านในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้ คือ 1. ในฐานะคนที่ต้องรับผลในการตัดสินใจทางนโยบาย คนที่เป็นเหยื่อทั้งอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและการคุกคามทางเพศ ขอยืนยันว่าเรามีความยากลำบากมากในการฟื้นคืนชีวิตให้กลับมาปกติสุข และได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐน้อยมาก รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยากลำบากโดยเฉพาะคนยากคนจน เครือข่ายจึงต้องการนโยบายที่เข้ามาช่วย มิใช่ซ้ำเติมปัญหา เพราะเราเจ็บจริง ตายจริง พิการจริง 2. ขอให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนและระบบสุขภาพ ไม่ควรทำให้มาตรการที่มีอยู่อ่อนแอลง สวนทางกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (SAFER) และขอให้พรรคสนับสนุนให้สภาฯมีมติรับทุกร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาในกรรมาธิการ 3. สิ่งที่รัฐบาล พรรคเพื่อไทยควรเร่งดำเนินการ ควบคู่กันไปกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ในสภาฯ คือ ให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มโทษเมาแล้วขับ (ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก) โดยเฉพาะกรณีที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต้องทำให้ติดคุกจริง ไม่เปิดช่องให้รอลงอาญา และทำให้ร้านเหล้าผับบาร์ ผู้ที่ขายให้คนมาก่อเหตุต้องร่วมรับผิด 4. ขอให้พรรคเพื่อไทยรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบด้านเป็นธรรม และ 5.เครือข่ายฯ ยินดีสนับสนุนการทำงานของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” นายธีระภัทร์ กล่าว

ด้านนางสาวจิราพร สินธุไพร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนปกป้องและให้ความสำคัญกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จากปัญหาการเมาแล้วขับ โดยที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขาดความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันเราให้ความสำคัญทางด้านมิติของสังคมและเศรษฐกิจ ในการสร้างสมดุลของสังคม ซึ่งในวันพุธที่จะถึงนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของพรรคเพื่อไทยเอง อีกทั้งฝ่ายรัฐบาล และมีของฝ่ายค้าน และของภาคประชาชน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองที่เปิดให้ภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ทุกปัญหามีทางออก และพรรคเพื่อไทย ก็ยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอ และประเด็นข้อกังวลของภาคีเครือข่ายที่จะไปใช้ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในอาทิตย์นี้

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *