นักวิชาการเตือนรัฐบาล แก้กฎหมายเปิดช่องธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำโฆษณา สื่อสารการตลาด เพิ่มเวลาขาย ส่งเสริมการขาย อ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย ส่อผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ละเมิดสิทธิประชาชน เหตุไม่สามารถควบคุมคนเมาสร้างผลกระทบ ทำคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ บาดเจ็บ ล้มตาย จากนโยบายรัฐให้เสรีภาพดื่มเกินขอบเขต
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลกำลังแก้ไขร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล พ.ศ….โดยมีการตั้งธงให้หาข้อผ่อนปรนที่เอื้อต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการข้อสรุป 8 ประเด็นสำคัญที่ส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ เป็นที่น่ากังวล โดยการปรับแก้กฎหมายเพื่อลดทอนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บ และโรคไม่ติดต่อหลายชนิด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลิตภาพของแรงงาน และงบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้จะเป็นฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มาตรการด้านภาษี มาตรการจํากัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งด้านเวลา สถานที่ อายุ และมาตรการงดการโฆษณา เป็นสามวิธีที่สามารถควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิผลและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการแก้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ และการยกเลิกการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นั้น ถ้าดูจากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า จะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวม ในเยาวชน และการดื่มแบบอันตรายเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งทำให้อาชญากรรม การเจ็บป่วย และการเสียชีวิตสูงขึ้นตามไปด้วย โดยผลการวิจัยชี้ชัดว่า ประเทศที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการละเมิดซึ่งเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับต่ำกว่า ในทางกลับกัน การให้โฆษณาได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตบนทางหลวงเพิ่มขึ้น ส่วนการห้ามการโฆษณาที่ดำเนินการทั่วสหภาพยุโรปจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 5% เป็นต้น
ส่วนการแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ผลการศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า จะทำให้อาชญากรรม การเจ็บป่วย รวมถึงการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล เพิ่มสูงขึ้น เช่น การเพิ่มเวลาจำหน่าย 1 ชั่วโมง จะทำให้อาชญากรรมและความรุนแรงเพิ่มขึ้น 16% ถ้าเพิ่มเวลาจำหน่ายตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะเพิ่มอันตรายที่เกิดจากการดื่มบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญ และกฎหมายที่อนุญาตให้จำหน่ายวันอาทิตย์ในสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีเล็กน้อยเพิ่มขึ้น 5% อาชญากรรมรุนแรงเพิ่มขึ้น 10% แต่ถ้าเทียบกับผลของการลดเวลาจำหน่าย เช่น เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ที่ห้ามขายในร้านค้าระหว่างเวลา 21.00 น. – 07.00 น.ทำให้อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการมึนเมาลดลง 25-40% สอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศเยอรมนี ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาลปี 2550-2554 หลังรัฐสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์ตั้งแต่เวลา 22.00 น.- 05.00 น. พบว่า การเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 7% ส่วนที่ออสเตรเลียที่ลดชั่วโมงการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงก็ลดอันตรายและความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิผล
ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นว่า เสรีภาพในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลสามารถสร้างผลกระทบหรือละเมิดสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบาดเจ็บ ทุพพลภาพ เสียชีวิต การถูกทำความรุนแรง ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาจำหน่าย อนุญาตให้มีการโฆษณา หรือสามารถทำกิจกรรมส่งเสริมการขายได้ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียทางสังคมและเศรษฐกิจตามผลการศึกษาที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการออกนโยบายที่เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 25 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติโดยสรุปว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น การกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น โดยรัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งจะถูกกระทบจากมาตรการฯ ย่อมเป็นการออกนโยบายที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบทางสังคม และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่โดยสิ้นเชิง