เปิดผลสำรวจ พบยาเสพติดนำโด่ง 58.70% ปัจจัยกระตุ้นรักเป็นพิษ “สุรา-การพนัน” สสส.จับมือเครือข่ายเปิดพื้นที่ส่งสัญญาณเตือนเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดความรุนแรงในครอบครัว ส่งมอบความรัก การให้เกียรติกันและกัน หมอโอ๋ ชี้พฤติกรรมเสี่ยงรักพิษ ต้องหยุดด้อยค่าตัวเอง แนะพูดคุย รักตัวเอง ให้มาก ด้าน “เชียร์ ฑิฆัมพร” แชร์ประสบการณ์จากคำพูดร้ายๆ ทำความคิดจมดิ่ง กระทบงาน สุดท้ายปล่อยผ่าน หนุนแนวคิดชื่นชม รักตัวเอง เสริมแกร่งทุกความสัมพันธ์
มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ ประจำปี 2567 Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ โดยมีการเสวนา เรื่อง “สัญญาณเตือน…ก่อนรักเป็นพิษ และการจัดการความสัมพันธ์” นอกจากนี้ยังมีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เยาวชนรวมพลังร่วมปกป้องสังคม ลดความเสี่ยงปัญหาความรักที่นำไปสู่ความรุนแรง
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เนื่องในวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ สสส. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังให้ทุกคนอยู่ร่วมในสังคมด้วยความความรักเกื้อกูลกัน จึงถือโอกาสสื่อสารสุข สะท้อนความรักที่งดงามทุกรูปแบบ ในทุกด้าน รวมถึงให้รับรู้และเข้าใจการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เป็นพิษ (Toxic) รู้สัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งความคิด คำพูด หรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่สำคัญคืออยู่ให้ห่างจากปัจจัยกระตุ้นรักที่เป็นพิษ ทั้งเหล้า ยาเสพติด พนัน ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านสื่อ ปี2565 มีถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 กว่า 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24% ขณะที่เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงสำรวจเยาวชนอายุ 13-25 ปี 2,000 คน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบปัจจัยร่วมที่เข้ามามีส่วนทำให้คู่รักเปลี่ยนไป อันดับ 1 ยาเสพติด อันดับ 2 การพนัน และ อันดับ 3 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 20.9 ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เยาวชนในกลุ่มอายุนี้ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ในขณะที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า เยาวชนในกลุ่มอายุนี้เกี่ยวข้องกับการพนัน 4.3 ล้านคน จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้เห็นภาพความน่ากังวลของปัญหาเหล้า พนัน ยาเสพติด ในเยาวชน และชัดเจนว่าการเข้ามาของปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายมีผลต่อปัญหาในความรัก ตามผลสำรวจที่สะท้อนภาพออกมา ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายฯ หวังให้ประชาชนมอบความรักแก่กันมากขึ้น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และใช้ชีวิตห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ
ด้าน นางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากการการสำรวจความคิดเห็นเยาวชน 13 – 25 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,000 ตัวอย่าง ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ พบว่าพฤติกรรมที่ทำให้รักเป็นพิษมากที่สุดคือการนอกใจ 45.55 % การลดทอนคุณค่า 42.85 % ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ 37.10 % ความคาดหวัง การกดดัน 33.30 % การแสดงความเป็นเจ้าของ 32.20 % ความเงียบ ถามไม่ตอบ 28.80 % ดื่มเหล้า เล่นพนัน ใช้ยาเสพติด 15.75 % ชอบเหวี่ยงชอบวีน 15.10 % โมโหร้าย ทำลายข้าวของ 14.60 % ขึ้นเสียง แสดงอำนาจ ชักสีหน้าใส่ 14.60 % เอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้คนอื่นฟัง 7.60 % ติดเที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ 6.45 % เอาเปรียบเรื่องเงิน 5.55 %
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้42.10 % การเลี้ยงดูจากครอบครัว 17.75 % ประสบการณ์ชีวิต 10.70 % พฤติกรรมเลียนแบบจากคนในครอบครัวที่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.85 % ความเชื่อส่วนบุคคล 6.05 % จิตเวช 5.70 % เกมส์ 5 % สื่อซีรีส์หนัง 3.15 % อื่น ๆ เช่น ความเห็นแก่ตัว 1.70 % ส่วนปัจจัยร่วมที่ทำให้คู่รักเปลี่ยนไปคือยาเสพติด 58.70 % พนัน 48.60 % เหล้า 43.35 % ติดโซเชียลมีเดีย 39.35 % การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว 38.10 % ติดหนี้ 34.30 % เกมส์ 32.25 % ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพบว่ามีการโพสต์ข้อความทางโซเชียลฯ เพื่อระบายปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักมากที่สุด 36.55 % โพสต์เพื่อตำหนิ หรือประชด 35.60 % โพสต์โอ้อวด 14.90 % โพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจของคู่รัก 12.55 % ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหากลุ่มตัวอย่างเลือกจัดการด้วยการพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์ หรือเลิก 42.30 % สร้างพื้นที่ปลอดภัย สบายใจ 34.30 % หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ธรรมะ เล่นเกมส์ 16.05 % แสดงความอ่อนแอ เช่น ร้องไห้ 4.90 % และ อื่น ๆ 2.45 % ส่วนคนที่จะปรึกษามากที่สุดคือ เพื่อน 62.05 % พ่อแม่ คนในครอบครัว 21.60 % ครู/ อาจารย์ 9.50 % สื่อออนไลน์ 3.75 %
นางสาวปาลิณี กล่าวต่อว่า สังคมของวัยรุ่นน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ Toxic เพราะเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่รัก และเห็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่จะทำให้ความรักเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด พนัน เหล้า ซึ่งพวกเราอาจจะต้อง รับรู้ เข้าใจปัญหา และร่วมกันหาทางออกกับปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่า ยังมีคำพูดดีๆ ที่สามารถฮีลใจ หรือทำให้รู้สึกดีขึ้น คือ เหนื่อยมั้ย 72.20 % สู้ๆนะ คุณโอเคมั้ย 50.70 % รักนะจุ๊บๆ 49.50 % กอดนะ 47.85 % เป็นห่วงนะ 45 % กินอะไรมายัง 38.95 % เงินไม่พอบอกนะ 37.10 % วันหยุดนี้ไปเที่ยวไหนดี 34.75 % ทำทุกอย่างเพื่อเรานะ 23.30 % และอื่นๆ 0.65 %
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ด้วยบริบทโครงสร้างหลายอย่างที่ทำให้หลายคนจำยอมอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เพราะไม่มีระบบที่โอบอุ้มให้รู้สึกหล้าหาญ หรือรู้สึกถึงความปลอดภัย ทั้งนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางด้านร่างกาย จิตใต หรือความรู้สึก นี่เป็นสัญญาณแรกๆ เลยที่อาจจะบอกได้ว่า นี่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีพอ ความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเริ่มไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง จะทำอะไรก็กลัวผิด กลัวเขาจะว่าหรือทำร้าย หรือเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เรามองไม่เห็นความวัง ความฝัน หรืออนาคต ทำให้เรามีความรู้สึกทางลบมากกว่าความรู้สึกทางบวก เป็นต้น สิ่งเหล้านี้นับว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมี การมีความสัมพันธ์ที่ดีควรทำให้เรามีความสุข หรือไม่ทุกข์ไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่ดีแล้วจะต้องตัดจบความสัมพันธ์ทันที แต่อาจจะเริ่มจากการให้โอกาสและเรียนรู้ หากมีการทำผิดแบบเดิมซ้ำๆ ก็อาจจะต้องกลับมาบอกกับตัวเองว่า ยังเป็นความสัมพันธ์ที่ยังมีความหวังหรือไม่ เป็นการทำร้ายตัวเองหรือไม่ หรือนั่นอาจจะเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ “เวลาคุยกับคู่รักเขาจะให้ความหวังเราอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องคิดแล้วว่า มันมีความหวังจริงหรือไม่ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ คือความสัมพันธ์ที่เขาไม่ยอมปล่อยเรา แต่ก็ไม่ได้ดูแลเราให้มีวิตที่ดีพอ ก็ต้องถามคำถามกับตัวเองว่า เราจะต้องทนกับสภาพแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ก็ขอให้กลับมาดูแลตัวเอง เห็นคุณค่ากับตัวเอง เราเก่งมากที่อยู่ตรงนี้ได้ และวคามสัมพันฑ์ที่ไม่ดีนี้เรากำลังจะก้าวออกมา หันทำดีกับตัวเอง” ผศ.พญ.จิราภรณ์
นางสาวฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ หรือ “เชียร์” นักแสดงชื่อดัง กล่าวว่า จากการได้รับฟังการเสวนา ทำให้เราได้รับแนวคิดที่ดี ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก คนรอบข้าง รวมถึงการทำงาน อย่างแนวคิดในการพูดกับตัวเอง ใจดีกับตัวเอง ชื่นชมตัวเองให้มากนั้นเป็นหลักการทีดีมากที่ช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมีความหวังได้ จากที่คนทั่วไป เวลาที่ทำอะไรผิดพลาด หรือไม่ได้ดั่งใจ มักจะกล่าวโทษตัวเองว่า เช่น ตอนที่ตนไปต่างประเทศ แล้วถูกขโมยนาฬิกาซึ่งมีมูลค่าสูง แล้วเอาแต่โทษตัวเอง จะโทรไปหาที่บ้าน ยังคิดว่า ต้องถูกตำหนิกลับมาแน่ๆ แต่ในความเป็นจริง ครอบครัวกลับบอกว่า “ไม่เป็นอะไรก็ดีแค่ไหนแล้ว” ทำให้ความรู้สึกที่ดิ่งลึกแล้วกลับมาได้ นอกจากนี้ในอดีตตนเคยเจอคำพูดเชิงตำหนิรูปร่าง แล้วมีคนหัวเราะ เห็นด้วย คนที่พูด คนที่หัวเราะเขาผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เรากลับผ่านไปไม่ได้ ทำให้ไม่มีความสุข ไม่อยากไปกองถ่าย ไม่กล้ายืนหน้า แต่ที่ผ่านมาได้เพราะสุดท้ายพยายามบอกกับตัวเองว่าเรารู้สึกไปก็เท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีใครรู้สึกกับเรื่องนั้นแล้ว แล้วเราจะให้ค่ากับคนเหล่านั้นจริงๆ หรือ เพราะหากเราผ่านไปไม่ได้ก็ทำให้เราทำผลงานออกมาไม่ดี คนที่ได้รับคำตำหนิก็เป็นตัวเราเท่านั้น ส่วนความรักเหมือนถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัว จากการยอมทุกอย่าง รู้ตัวอีกทีก็เสียความเป็นตัวตนแล้ว พอจะทำอะไรที่เป็นเรื่องของเราเองก็กังวลว่าจะทำได้หรือไม่ พูดได้หรือไม่ และก็ไม่กล้าเอ่ยปากว่าเราต้องการอะไร ดังนั้นการพูดคุยกับตัวเอง ชมตัวเอง รักตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนสังคมก็สามารถนำหลักการสื่อสารด้วยคำชม หรือแสดงความห่วงใยก่อนตำหนิ เพราะในเรื่องร้ายอาจจะยังมีเรื่องที่ดีอยู่ เป็นต้น.