นานาชาติ ร่วมลงชื่อ หนุน “เศรษฐา-หมอชลน่าน” คงกฎหมายคุมเหล้าเข้มแข็ง อย่าอ่อนข้อให้นายทุนน้ำเมา ปล่อยประชาชน ประเทศชาติแบกรับปัญหาสุขภาพ “ประธานเครือข่าย Movendi international”ชมเปาะ “กฎหมายไทย”แกร่ง สกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้นแบบทั่วโลก
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 66 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเร่งปฏิบัติการนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยองค์กร Movendi International สถานที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 25 คน จาก 19 ประเทศ ปรากฏว่า นส.คริสตินา สเปอโควา ประธานเครือข่าย Movendi international ซึ่งมีสมาชิกเครือข่าย 157 องค์กร ใน 57 ประเทศทั่วโลก ได้กล่าวให้กำลังใจและสนับสนุนรัฐบาลไทย ในการพัฒนากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดีและเข้มแข็งและมีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะเขามองว่า ประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระดับภูมิภาค และระดับโลก สามารถเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้
โดยหลังรัฐบาลไทยประกาศใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2551 ทำให้จำนวนคนดื่มแอลกอออล์ของไทยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2546 พบผู้ดื่ม 33% และลดเหลือ 28% ในปี 2564 อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่ที่ 7.1 ต่อประชากร แต่ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้อัตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธ์ต่อหัวประชากร อยู่ที่ 10 ลิตรต่อประชากร ดังนั้นนี่จึงแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการมีกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์นโยบายควบคุมแอลกอออล์โลก (Best Buy Policy) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อหลัก คือ การขึ้นภาษีสรรพสามิต การควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และ การควบคุมสถานที่ดื่มสถานที่ขาย ควบคุมวันเวลาขาย อายุผู้ซื้อ และควบคุมวิธีการขาย เช่น ห้ามขายด้วยเครื่องขายอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มีมาตราการ 2 ข้อ ยกเว้นด้านภาษีที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ในประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนม่า มีสัดส่วนแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อประชากรสูงขึ้นในขณะที่ไทยมีแนวโน้มคงที่ เพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีมาตราการที่เข้มแข็งมาปกป้องประชาชนนั่นเอง
นายธีระ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากที่ได้ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ Alcohol Policy Accelerator Workshop ได้เรียนรู้แผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก ซึ่งมีแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปออกแบบทำแผนของประเทศตนเอง เช่น แผนการผลักดันกฎหมาย การขึ้นภาษี แผนการมีส่วนร่วมของชุมชน แผนการทางวิชาการและการพัฒนาบุคคล เป็นต้น โดย แต่ละประเทศได้นำเสนอเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการควบคุมแอลกอฮอล์ของตน โดยประเทศไทยที่มีเป้าหมายที่จะรักษากฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากองค์กร เพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีกฎหมายที่เข้มแข็งในอนาคตแบบประเทศไทย
นายธีระ กล่าวด้วยว่า การประชุมดังกล่าวมี องค์กรภาคประชาสังคมนานาประเทศเข้าร่วม ไทย กัมพูชา อินเดีย มองโกเลีย ยูกันดา เคนย่า เรโชโทร มาลาวี เยอรมัน เบลเยี่ยม บอสเนียและฮอร์เชโกวิน่า สโลวาเกีย สโลเวเนีย มอนเตรเนโกร โคลัมเบีย แม็กซิโก ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้ทราบเรื่องที่ประเทศไทยจะมีการแก้ไขกฎหมาย ทุกประเทศจึงได้ให้การลงชื่อสนับสนุนรัฐบาลไทย นายเชษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการนโยบายที่เข้มแข็งต่อไป อย่ายอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายธุรกิจที่เป็นเพียงผู้ได้รับประโยชน์ส่วนน้อย แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ การสาธารณสุข และสังคม เพราะในทุกประเทศที่มาประชุมต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน.