สรพ. ชู นวัตกรรม รพ.หาดใหญ่ ลดภาระบุคลากรแพทย์-ลดความแออัดในโรงพยาบาล

สรพ. ลงพื้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ นำเสนอกระบวนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ชูนวัตกรรมเด่น “ICU without walls” และ การพัฒนา “ระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation” เพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้บริการประชาชน ลดข้อผิดพลาด เพิ่มความปลอดภัย ลดความแออัด ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 8 – 9 มิถุนายน 2566 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) นำคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะ พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพ ประจำปี 2566” โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล และคณะแพทย์ พยาบาลให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ ICU without walls และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า การมาดูงานที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ครั้งนี้ เพราะอยากให้เห็นทิศทางการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และอยากให้บุคลากรในสถานพยาบาล ที่พบเห็นประเด็นปัญหาหน้างานแล้วอยากใช้นวัตกรรมไปแก้ไข โดยกระบวนการคือเราได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่ผลิตนวัตกรรม อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วให้นวัตกรมาประกบกับคนทำงาน เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ มาลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยตัวอย่างโครงการที่ สรพ. เริ่มต้นขึ้นคือ Patient And Personnel Safety (2P Safety) คือ 1. การทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย 2. บุคลากรปลอดภัย ด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ก็มีนวัตกรรมที่ดี 2 เรื่อง ได้แก่ ICU without walls และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation ซึ่งเกิดจากประเด็นปัญหา และพบว่าการดูแลคนไข้ที่มีจำนวนมาก ทำให้การวินิจฉัยล่าช้า การรักษาล่าช้า ทำให้ต้องคัดกรองให้ได้ก่อน โดยสิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้การคัดกรองทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ นวัตกรรม

“ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ส่งเรื่องนี้เข้ามา สวทช.ก็ได้ส่งนวัตกรเข้าไปประกบ และร่วมออกแบบนวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งจะได้เห็นทั้ง Rapid Response Alert ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้วินิจฉัยได้ก่อน ว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต แต่การพัฒนาไม่ได้หยุดนิ่ง ได้พัฒนาต่อไปในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยหนักที่ต้องได้รับการรักษาห้อง ICU เกิดเป็นนวัตกรรม ICU without walls ที่มาจากปัญหาห้องICU เต็ม เข้ายาก และเน้นการให้ความเห็นของแพทย์เจ้าของไข้ โดยอาศัยหัวใจสำคัญที่ว่าถ้าผู้ป่วยหนักเกิดความจำเป็นต้องเข้า ICU เขาต้องได้เข้า จึงมีการนำนวัตกรรมมาลดอคติของคน โดยใช้เกณฑ์อาการของคนไข้เป็นตัวชี้วัด ว่าอาการอะไร มีระดับสูงแค่ไหน ถึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้ารับการรักษาในห้อง ICU และใครที่ต้องออกไปรักษาตัวห้องผู้ป่วยใน และยังขยายผลไปใช้ภายนอกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ต้องการส่งต่อผู้ป่วยมารักษา ICU โรงพยาบาลหาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

พญ.ชุติมา จิระนคร รองผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวถึง การพัฒนา ICU without walls นวัตกรรมที่ผู้ป่วยวิกฤตทุกคนสามารถเข้าไปรักษาได้ โดยมีระบบการเก็บข้อมูลและประเมินอาการผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ เพื่อสามารถจัดลำดับอาการ และบริหารเตียงภายในห้อง ICU ได้ นอกจากนี้แพทย์เจ้าของไข้ที่ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ยังสามารถใช้งานล็อกอินเข้าระบบ LINE OA ในการจองเตียง ICU ก่อนส่งตัวมารักษา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจาก Rapid Response Alert ระบบการประเมินระดับอาการผู้ป่วย ที่ประมวลผลด้วยระบบดิจิทัล AI ผ่านการวัดไข้ วัดความดันโลหิต วัดระดับอัตราการเต้นหัวใจ ที่นอกจากจะลดระยะเวลาในการตรวจผู้ป่วยแล้ว ยังแสดงผลออกมาเป็นระดับอาการ สีเขียว สีเหลือง สีแดง แจ้งเตือนไปยังพยาบาลและแพทย์ เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

รศ.ดร.นพ.ณรงค์ศักดิ์ นาขวัญ หัวหน้าศูนย์ HYs-MEST โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation มาจากปัญหาความล่าช้า ในอดีตที่โรงพยาบาลไม่มีทีมเวิร์ค เกิดปัญหาเปลไม่เพียงพอ การขนส่งในโรงพยาบาลยังมีความซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ป่วยรอเปลนาน ปัญหาไม่มีออกซิเจน หรือถังออกซิเจนเก่าเป็นสนิม จึงเกิดเป็นระบบการขนส่งทางการแพทย์ที่รับรองเรื่องความปลอดภัย ที่เรียกว่าศูนย์ HYs-MEST เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ที่รวมบุคลากรในโรงพยาบาลที่ทำงานด้านการขนส่งภายในกว่า 80 ชีวิต และจัดระบบบริหารงานขนส่งโดยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิทัลให้มากที่สุด ปรับกระบวนการทำงานให้ใช้คนน้อยที่สุด แต่ครอบคลุมงานขนส่งมากที่สุด อย่างการสลับเปลี่ยนหน้าที่ตามความต้องการในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ในช่วงที่ต้องการเจ้าหน้าที่ส่งผลแล็บ จะดึงทีมที่ทำหน้าที่อีกฝ่ายที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีงานเข้ามาดำเนินการแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้บุคลากรทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยให้ระบบการขนส่งภายในทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แล้วยังสร้างคุณค่าให้กับบุคลากรที่ได้มีส่วนช่วยให้บริการผู้ป่วยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA ครั้งแรกในปี พ.ศ 2545 โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันได้รับการรับรอง Re-accreditation ครั้งที่ 6 และยังได้การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในปี พ.ศ. 2562 ด้วย ซึ่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม หรือ 2P Safety Hospital ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งในอดีตมีคนไข้ที่เดินทางมาพบแพทย์จำนวนมาก บางคนไม่ได้นัดหมาย มากกว่าครึ่งจะมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเข้ามาด้วย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแออัดในโรงพยาบาล ที่สำคัญโรงพยาบาลหาดใหญ่ ยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากพื้นที่ใกล้เคียงด้วย และจากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สามารถลดความแออัดและลดงานแพทย์ลงได้อย่างมาก อีกส่วนคือการบริการโรคสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในพื้นที่ ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้พัฒนาเรื่องโรคมะเร็ง ตั้งแต่การตรวจสอบ คัดกรองให้เร็ว เพื่อให้การรักษาได้ผลดี และมีเครื่องมือในการรักษาที่พร้อม ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การพักฟื้นผู้ป่วย จึงเกิดเป็น “ศูนย์รังสีรักษา ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลหาดใหญ่-นาหม่อม” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยให้การเข้าพบแพทย์ การครองเตียงในโรงพยาบาลหาดใหญ่ลดลง ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2564 ให้บริการผู้ป่วยในเขตสุภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

“โรงพยาบาลให้บริการผู้ป่วยมากกว่าวันละ 3,000 คน และการดูแลประชาชน ต้องไม่มีคำว่าเตียงเต็ม ไม่ปฏิเสธคนไข้ ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ก็เพื่อลดประโยชน์ของประชาชน” นพ.ไชยสิทธิ์ กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *