กรุงเทพฯ ประเทศไทย – มาร์ส เพ็ทแคร์ เปิด “APAC Pet Center” ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียแปซิกฟิก ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อพัฒนานวัตกรรมและยกระดับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยมาตรฐานวิจัยในระดับสากล
ดร.จารึก ศรีเกียรติเด่น ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า APAC Pet Center เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งแรกของมาร์สในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงในรูปแบบอัตโนมัติแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานของสถาบันวิจัยอาหารสัตว์เลี้ยงระดับสากล โดยมีพื้นที่รวม 3,630 ตร.ม. ตั้งอยู่ที่บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด อ. พานทอง จังหวัดชลบุรี
ศูนย์วิจัยแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในระดับภูมิภาค โดยให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาร์สจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายทั่วไปท้องตลาด นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งหวังให้ศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นที่แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สัตวแพทย์ และนักวิจัย
“เราใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย มาช่วยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการกินของสุนัขและแมว ด้านความชื่นชอบต่ออาหารแต่ละชนิด ปริมาณการกินที่เหมาะสม รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพของอาหารผ่านการย่อยได้ของสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาหารที่ใช้ทดสอบล้วนได้มาตรฐานและผ่านการขึ้นทะเบียนโดยกรมปศุสัตว์ ข้อมูลที่ได้เหล่านี้ เราจะนำมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพอาหารและความอร่อย เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านโภชนาการ และรสชาติที่สัตว์เลี้ยงชื่นชอบ” ดร.จารึก กล่าว
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง ถือเป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีภารกิจในการควบคุม กำกับ ส่งเสริม วิจัย ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งดูแลมาตรฐานคุณภาพอาหารสัตว์
“การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในประเทศไทย เป็นการพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์อันดับต้นๆ ของโลก กรมปศุสัตว์มีความยินดีที่ได้ร่วมมือ และมีส่วนช่วยสนับสนุนการจัดตั้ง และการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ ในการยกระดับขีดความสามารถ นำพาประเทศไทยก้าวสู่เวทีการค้นคว้าและวิจัยอาหารสัตว์เลี้ยงในระดับภูมิภาค และการเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว
อ.สพ.ญ.ดร.มล.นฤดี เกษมสันต์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลต่อความต้องการสัตวแพทย์ และการพัฒนาความสามารถในด้านวิชาชีพสัตวแพทย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
“การเปิดตัว ‘APAC Pet Center’ ที่ทันสมัยและครบวงจรมาตรฐานระดับสากลในประเทศไทย โดยมีสัตวแพทย์เป็นผู้ร่วมพัฒนาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้สัตวแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับวิชาชีพสัตวแพทย์ในประเทศไทยเพื่อตอบสนองตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง” อ.สพ.ญ.ดร.มล.นฤดี เกษมสันต์ กล่าว
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในแผนส่งเสริมการลงทุนใหม่ หนึ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ได้รับการยอมรับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก
“จังหวัดชลบุรียินดีต้อนรับ APAC Pet Center ของมาร์ส เพ็ทแคร์ และจะร่วมผลักดันส่งเสริมศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแห่งนี้ในทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพราะนอกจาก APAC Pet Center จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดชลบุรี ในการเป็นจุดหมายปลายทางของผู้มาเยี่ยมชมศูนย์วิจัยแห่งนี้จากทั่วทุกมุมโลก” นายธวัชชัย กล่าว
สุนัขและแมวทั้งหมดที่ APAC Pet Center ผ่านการคัดเลือกและได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่เน้นความสุขกาย สบายใจของสัตว์เลี้ยงตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ APAC Pet Center อันทันสมัยแห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่ออนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวของ LEED ในระดับ Gold รวมทั้งม้านั่งและอิฐปูพื้นภายนอกอาคาร ผลิตจากการรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกของอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใช้แล้วจากโครงการ “แลกแล้ว ลดเลย” เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน