สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชวนสัมผัสมหกรรมไอเดียสร้างสรรค์ระดับโลก ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) ตลอดทั้ง 9 วัน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” หนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพลิกฟื้นบรรยากาศของเมืองให้สามารถโอบรับ ‘มิตรที่ดี’ ทุกมิติได้อย่างลงตัวทั้งสิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ธุรกิจ ชุมชน และทุกความหลากหลาย พร้อมขยายพื้นที่ย่าน ศก. สร้างสรรค์สู่ 5 ย่านใหม่ โดยย่านที่ร่วมจัดงานเทศกาลฯ ประกอบด้วย 1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) สามย่าน – สยาม 3) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 4) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง และย่านใหม่ ได้แก่ 5) เยาวราช 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ และ 9) เกษตรฯ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ต้อนรับการเปิดเมือง ปี 66 คาดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ตลอดการจัดเทศกาลฯ
วันนี้ (23 มกราคม 2566) ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนเขตผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อน ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหาร CEA ร่วมแถลงข่าว “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. – 22.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมครั้งนี้จัดภายใต้ธีมหลัก “urban‘NICE’zation หรือ เมือง – มิตร – ดี” ที่มีโจทย์หลักการออกแบบสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ฟื้นเมืองกรุงเทพฯให้ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ อีกครั้ง เน้นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมโดยมี ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สามารถพัฒนาบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง รับมือกับความท้าทายใหม่ได้ตลอดเวลา โดยพื้นที่เทศกาลจะอยู่ใน 9 ย่านหลัก ได้แก่ 1) ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) เยาวราช 3) สามย่าน – สยาม 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ 9) เกษตรฯ
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งสร้างโอกาสและรายได้ทางธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่าย รวมทั้งกระตุ้นย่านและผลักดันเมืองสร้างสรรค์กรุงเทพฯ โดยได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นำเสนอโจทย์หลักของการออกแบบและความสร้างสรรค์ ที่จะช่วย ‘ทำเมืองให้เป็นมิตรที่ดี’ ยิ่งขึ้น ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน และเป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 ย่าน ผ่านกิจกรรมกว่า 530 กิจกรรมใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์ นำเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.Talk & Workshop กิจกรรมบรรยาย และเวิร์กช้อป เพื่อให้ความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
3. Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์ และ
4.Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมืองในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง ตลอดจนการจัดเทคนิคแสงสี บนสถาปัตยกรรม รวมถึงการเปิดบ้านของคนในย่าน (Open House) คาดว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ จะช่วยปลุกบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดของคนเมือง พัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
“การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะนี้หลายแห่ง สามารถเป็นย่านที่มีการเจริญเติบโตสูงมาก มีธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้แต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ซึ่งการจัดเทศกาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เกิดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมงานกว่า 1.75 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างการจัดงานมากกว่า 1,368 ล้านบาท ครั้งนี้ มีย่านเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากเดิม เคยจัด 5 ย่าน เป็น 9 ย่าน เชื่อว่าปีนี้ จะเป็นอีกปี ที่ประสบความสำเร็จ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ต่อไป” นายชาคริต กล่าว
ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากนโยบายสร้างสรรค์ดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงาน 12 เทศกาลตลอดทั้งปี เพื่อดึงศักยภาพของย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯนั้น “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ที่จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ จะอยู่ภายใต้เดือนแห่งการออกแบบ “ออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี” ของ กทม. เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีกระบวนการตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาต้นแบบ การทดสอบ และที่สำคัญคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทดสอบต้นแบบเพื่อปรับปรุง และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักออกแบบ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) สาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562
สำหรับย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในปีนี้ ทั้ง 9 ย่าน ผู้สนใจเข้าร่วม สามารถเลือกท่องเที่ยวได้ตลอดทั้ง 9 วันของเทศกาลฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ประกอบด้วย
1.ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย เป็น ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบของประเทศไทย’ เพียบพร้อมด้วยศักยภาพทางวัฒนธรรม ใหม่-เก่าที่ผสมและผสานไว้ด้วยกัน คลาคล่ำไปด้วยแกลอรี่งานศิลปะและโชว์รูมดีไซน์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและวิถีชุมชนเก่าแก่ไว้อย่างดีเยี่ยม อัดแน่นด้วยกิจกรรมหลากหลายกว่า 30 พื้นที่ อาทิ TCDCกรุงเทพฯ ไปรษณีย์กลางบางรัก คลองผดุงกรุงเกษม อาคารชัยพัฒนสิน River city เป็นต้น
– Re-Vendor เจริญกรุง 32 โดย CEA x Cloud-Floor x CommDe/ID CU x KU x Street Vendors CRK32 งานออกแบบเชิงทดรองของร้านค้าแผงลอย ในซอยเจริญกรุง 32 เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับสตรีทฟู้ดริมทาง ให้เป็นมิตรกับเมืองมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ ชุมชน และผู้คนที่หลากหลายในเมือง สถานที่ย่านเจริญกรุง, ซอยเจริญกรุง 32
– CITY HAPPENINGS โดย 27JUNE STUDIO สัมผัสประสบการณ์การชมผลงานแบบ Interactive Public Art Installation ผ่านผลงานสร้างสรรค์ที่แทรกตัวอยู่ตามพื้นที่สาธารณะตลอดคลองผดุงกรุงเกษมและถนนมหาพฤฒาราม ไม่ว่าจะเป็นลานโล่ง สวน กำแพง หรือแม้กระทั่งบนรถขนส่งสาธารณะ ผลงานเหล่านี้จะช่วยมอบสีสันให้เมืองและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนเมืองมาใช้เวลาร่วมกัน สถานที่ ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย และคลองผดุงกรุงเกษม ถนนมหาพฤฒาราม
2. ย่านเยาวราช ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘CITY TROOPER X ACADEMIC PROGRAM’ กิจกรรมที่ชวนพลเมืองผู้มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองและกลุ่มสถาบันการศึกษา 13 สถาบัน จับมือกันร่วมค้นหาความต้องการของเมืองที่ตอบโจทย์กับผู้คนและพื้นที่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ Bangkok City of Design ขององค์การยูเนสโก
– New bus stop design โดย Academic Program: Bangkok City Trooper ต้นแบบป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ จากกลุ่ม MAYDAY! ออกแบบจุดจอดรถเมล์ในเขตสัมพันธวงศ์ให้ใช้งานง่ายขึ้น เหมาะสมกับพื้นที่ และตอบโจทย์การใช้งานสำหรับคนทุกวัย โดยหลังจากสิ้นสุดเทศกาลฯ ป้ายนี้ก็จะยังคงอยู่ถาวรต่อไป
– You do me I do you โดย D&O association นิทรรศการที่ท้าทายนักออกแบบให้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ด้วยการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอ เช่น เหล็กไปสู่โรงงานหวาย นักออกแบบจึงได้ทำงานกับวัสดุที่ตนเองไม่คุ้นเคย ในขณะที่นําหลักการและสไตล์การออกแบบเฉพาะตัวของพวกเขามาปรับใช้และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ สถานที่ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
3. ย่านสามย่าน – สยาม เป็นศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และยังเป็นเหมือนสนามทดลองของคนสร้างสรรค์จากหลากหลายวงการที่ชวนกันมาระดมไอเดียเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในพื้นที่ เช่น Art4C House of Passa Saratta เป็นต้น
– CASETiFY x BKKDW2023 โดย CASETiFY แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีระดับโลก สร้างคอลเลคชั่น“เคสโทรศัพท์” ที่สะท้อนบริบทกรุงเทพฯ โดยเชิญศิลปินไทย 10 ท่าน ที่มาบอกเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ จากการตีความของตัวเอง และนำเสนอเป็นงานศิลปะบนเคสที่จะทั้งช่วยปกป้องโทรศัพท์และเป็นของที่ระลึกถึงกรุงเทพฯ ให้คุณได้พกพาไปกับตัวคุณได้ทุกที่
4. ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง ย่านเมืองเก่าที่เกิดมาพร้อมกับกรุงเทพมหานคร มีความคลาสสิกเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ พร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น เป็นแหล่งรวมทุกความคิดสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์ ต่อยอด และสร้างเรื่องราวที่จะกลายเป็นบทใหม่ของกรุงเทพฯ จัดกระจายตามจุดต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ประปาแม้นศรี ลานคนเมือง ไปรษณียาคาร บ้านนางเลิ้ง เป็นต้น
– เล่น : สร้าง : เมือง โดย PlanToys กิจกรรมส่งเสริมให้เด็กในเมืองมีอิสระในการเล่น เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างที่ได้รับจากการเล่น และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้ปกครอง ครู ผู้ใหญ่ในชุมชนเมือง ภายใต้บริบทของชุมชน สถานที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, ลานคนเมือง
– จรจัดสรร โดย จรจัดสรร Stand for Strays ต้นแบบที่พักพิงเพื่อให้สุนัขจรจัดอยู่ในชุมชนอย่างเป็นสุข ด้วยงานออกแบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ซึ่งสามารถใช้เป็นที่หลบแดด หลบฝน ที่กินอาหาร ให้กับสุนัขจรจัดในตรอกซอกซอยต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ช่วยสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับชุมชนเมือง สถานที่ พยัคฆ์ แกลเลอรี
– SATORIAL โดย SENSE OF NANG LOENG การออกแบบพัฒนาพื้นที่ที่กำลังจะสูญหายไป ให้กลับมาคึกคัก อีกครั้งในย่านนางเลิ้ง ผ่านออกแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านท่วงท่าและเสียงดนตรี พร้อม Projection Mapping ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งพำนักของศิลปินนักดนตรีไทยและนางรำ สถานที่ The Umber Housepresso & More
5. ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ โดยกลุ่ม AriAround ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จัด “เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง” ให้ชมสตูดิโด อาคารบ้านเรือน รวมถึงร้านค้า เพื่อผลักดันให้เป็นย่านฮิบแห่งใหม่ กลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ ที่พร้อมใจกันทําให้ย่านน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการ 33 space สวนซอยประดิพัทธ์ 17 สวนกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
6. ย่านพร้อมพงษ์ นำเสนอจุดโดดเด่นของย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่ม 49 & FRIENDS การรวมตัวของกลุ่มนักสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้ย่านนี้เติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่มีเรื่องราวน่าค้นหาที่สร้างประสบการณ์ใหม่ที่มอบความปลอดภัยให้กับผู้สัญจรในยามค่ำคืน และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ
– 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 โดย A49 / A49HD ในซอยสุขุมวิท 26 ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ แต่ในยามค่ำคืนกลับบดบังระบบไฟส่องสว่าง นักออกแบบได้นำเสนอสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างใหม่ที่สร้างความสว่าง เพิ่มความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ในตอนกลางคืน
7. ย่านบางโพ สานต่อตำนานถนนสายไม้แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ถนนสายไม้บางโพ ตํานานที่มีชีวิต’ จัดให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต รวมทั้งส่งเสริมผู้ผลิตไม้ในย่านเก่าแก่ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทําให้คนในพื้นที่ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และสินทรัพย์ เพื่อให้บางโพเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมจัดมหกรรมลดราคาครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 1 ปี รวมทุกร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก สินค้าไม้แปรรูป รวมถึงของตกแต่งประเภทต่าง ๆ โดยมีส่วนลดสูงสุดกว่า 50%
– The Life of Wood โดย Bangpho Wood Street พาวิลเลี่ยนโคมจากไม้แปรรูป ภายใต้แนวคิด ‘FILL THE GAP – เติมเต็ม ต่อยอดยุคสมัย ต่อยอดอาชีพ’ มอบประสบการณ์แก่ผู้เข้าชม ให้ถนนสายไม้เป็นถนนสร้างสรรค์ที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง สถานที่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม
– Balance in Space โดย Bangpho Wood Street การพัฒนาสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) จากพื้นที่จอดรถมาทำเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยการนำวัสดุเหลือใช้ภายในย่านมาใช้งาน และช่วยสนับสนุนงานฝีมือของคนในย่านไปพร้อมกัน สถานที่ บริษัท ทวีกิจ ผลิตภัณฑ์ไม้ จำกัด
8. วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน กิจกรรมภายใต้แนวคิดการส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู สู่การพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรม มานําเสนอในรูปแบบใหม่ โดย SC Asset ร่วมกับ กลุ่มยังธน สถานบันการศึกษา กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการ และชุมชนคนในพื้นที่ และย่านคลองสาน ที่นำสินทรัพย์ในพื้นที่มาเสนอในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยการสร้างกิมมิคให้คนมาท่องเที่ยวด้วยการนั่งเรือ จัดขึ้นโดย กลุ่ม SUP X Klong San และไอคอนสยาม ไฮไลต์ที่พบกับไอเดียสร้างสรรค์ สะท้อนบริบทของย่าน
– ถลกหนัง “THE MAKER” ซอยกรุงธนบุรี : อยู่อย่างย่านเจริญรัถ โดย SC Asset ที่เน้นผสมผสานเรื่องราวของสินค้าและงานฝีมือในย่านเจริญรัถ นำมาสู่การถ่ายทอดและการจัดวางในพื้นที่ห้องตัวอย่างของ The Reference Condominium เพื่ออ้างอิงและแสดงถึงการอยู่ร่วมกับความทรงจำ สื่อถึงความหมายของบริบทพื้นที่และย่านแห่งนี้
9. ย่านเกษตร ด้วยแนวคิด ‘GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี’ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย สร้างต้นแบบของชุมชน และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในการใช้ชีวิตประจําวัน และทีอยู่อาศัยที่พอเหมาะ สมดุลและยั่งยืน โดยนำกิจกรรมเกษตรแฟร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งการออกแบบตั้งจุดทิ้งขยะที่ตลาดอมรพันธ์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกลุ่มร้านค้าผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่เข้าร่วมเทศกาลครั้งนี้พบกับไฮไลต์ที่สร้างสรรค์ อาทิ
– กิจกรรมเวิร์กช็อป ที่กำลังเป็นเทรนด์ของการดูแลสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาขยะ ที่นำแนวคิด ‘การจัดการขยะ และของเสียจากตลาดสดรถเข็นขายอาหาร’ ในตลาดอมรพันธุ์ ที่เกิดจากความร่วมมือและออกแบบร่วมกันระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ J Market เป็นผู้ดูแลพื้นที่ตลาดอมรพันธุ์ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงระบบการจัดการขยะภายในตลาดให้ดียิ่งขึ้น
– การออกแบบบรรจุภัณฑ์ร้านในย่านเกษตร โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิทรรศการแสดงต้นแบบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับร้านอาหารย่านเกษตร โดย นิสิตจากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มาร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมือง – มิตร – ดี’ สำหรับทุกคนใน #BKKDW2023 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.bangkokdesignweek.com, FB และ IG: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek