กรมอนามัย แนะวิธีเตรียมตัวรับมือภัยหนาวอย่างปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี

กรมอนามัย แนะ วิธีการเรียนรู้ เพื่อป้องกันภัยหนาวที่ถูกต้องปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพจากการผิงไฟช่วงหน้าหนาวโดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัย เช่น อันตรายจากควันพิษ บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้ ไฟคลอก เป็นต้น วอนชุมชนร่วมช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวแสดงความห่วงใยประชาชน ภายหลังพบสถานการณ์ภัยหนาวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปีนี้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมาว่า และในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะเห็นความสูญเสียจากไฟไหม้บ้านเรือน ขาดอากาศหายใจจากการ
ผิงไฟในเต้นท์ของนักท่องเที่ยว เสียชีวิตการดื่มสุราคลายหนาว รวมถึงอุบัติเหตุ เสียชีวิตจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊ส ขอให้ประชาชนทุกคนระวังภัย ป้องกันตนเองและคนในครอบครัว

เบื้องต้นนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ แนะวิธีการรับมือภัยหนาวอย่างปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี สิ่งแรก คือ นำเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มกันหนาวซักให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้งพร้อมนำออกมาใช้อย่างปลอดภัย หากอุณหภูมิลดลงให้ดื่มน้ำอุ่น และกินอาหารปรุงสุกใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ให้สำรวจ เฝ้าระวัง
กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงภัยหนาวในพื้นที่ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนพิการทุพพลภาพ และสตรีมีครรภ์ พร้อมเร่งสื่อสารเตือนภัยเพื่อให้เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพจากภัยหนาว หลีกเลี่ยงการผิงไฟในที่อับอากาศเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต รวมทั้งการเฝ้าระวังอัคคีภัยจากการเผาฟืน จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ให้หมั่นตรวจตรา ทดสอบความปลอดภัย และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สถานประกอบกิจการ หรือครัวเรือนที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊สอย่างเข้มงวด เพื่อให้ควบคุม ป้องกันอันตรายจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นดังกล่าว ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ใช้งาน

“การก่อไฟแต่ละครั้ง จะมีควันไฟออกมา เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว และหากไม่ดับไฟให้สนิทอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟไหม้ ดังนั้น จึงควรก่อไฟในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ขณะผิงไฟควรนั่งหรือยืนอยู่เหนือทิศทางลม และกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่มีการก่อไฟ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการนำเตาถ่านหรือตะเกียงน้ำมันก๊าดเข้าไปจุดผิงไฟในเต็นท์ เนื่องจากจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อสูดดมก๊าซ 2 ชนิดนี้เข้าไปในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปเลี้ยง สมองทำให้เกิดอาการง่วง หลับโดยไม่รู้ตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้หรือถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต ส่วนกลางป้องกันเพลิงไหม้บ้านเรือน ก่อนประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยววันหยุดเทศกาลขอให้ตรวจการปิดเตาแก๊ส ถอดปลั๊กไฟ และดับธูปเทียนทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ ไม่เผาขยะหรือวัชพืชใกล้วัสดุติดไฟง่าย ไม่ดื่มสุราแก้หนาว เพราะสุราเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงจนอาจเสียชีวิตได้” นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวในตอนท้าย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *