วงเสวนา แฉปัญหาเด็กถูกกระทำรุนแรงซ้ำซากทุกสถานที่ เชื่อยังมีอีกมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ แนะจับมือ 3 ฝ่าย เปิดหุ้นส่วนทางสังคม สกัดปัญหาความรุนแรง ตั้ง องค์กรผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ จับตาปัญหา ดึงสติ”รัฐ” อย่าเฉย อย่าเกรงใจ เร่งตรวจสอบ เอาผิดไม่สนหน้าอินหน้าพรหม พร้อมปรับความคิดใหม่ เลี้ยงเด็กด้วยอำนาจความรัก ความเข้าใจ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดเสวนาเรื่อง “สิทธิและการคุ้มครองเด็ก…เมื่อเด็กไทยยังถูกตี ถูกใช้ความรุนแรง โดยมีนางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล อดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก และนางชลิดา พะละมาตย์ ตัวแทนมูลนิธิเส้นด้าย ร่วมเสวนา
นางทิชา กล่าวว่า ตามที่มีรายงานสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้มูลนิธิคุ้มครองเด็กของครูยุ่น ทำร้ายร่างกายเด็ก จนทำให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว แต่กว่าจะดำเนินการก็ต้องให้สังคมกดดัน ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรง ใช้แรงงานเด็ก หรืออาจถึงการค้ามนุษย์นั้นต้องติดตามว่าพนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหาใดบ้าง ทั้งนี้เรื่องนี้สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุณภาพชีวิตเด็กยากจน ขาดโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆ ในสังคมอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกแต่เกิดขึ้นซ้ำซาก จนประชาชนต้องถามกลับไปยังรัฐ ไม่ละอายใจบ้างหรือที่ทำงานไปวันๆ โดยไม่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม เอาแต่วิ่งตามปัญหาและจัดงานอีเว้นท์ ทั้งนี้การเรียกร้องให้รัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพคงแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องแก้ไขวัฒนธรรมองค์กร เขียนกติกาใหม่ ให้รัฐมีขนาดเล็กลง ควบคู่กับการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วประเทศไทยต้องมีองค์กรผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพชีวิตเด็ก สิทธิเด็กอย่างเข้มแข็งที่เข้มแข็ง โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ จิตวิญญาณใหม่ นวัตกรรมเพื่อให้มีหลักประกันเรื่องสิทธิเด็กสำหรับเด็กทุกคน ซึ่งมีอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ศ.ดร.กิติพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กดังกล่าวตนมองว่ามี 3 ส่วนที่ต้องแก้ไข คือ
1. สังคมไทยยังใช้อำนาจนิยมกับเด็ก มีความคิด ความเชื่อแบบผิดๆ เช่น สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ทำให้เชื่อว่าสามารถตีเด็กได้ แต่จริงๆ คือดูแลลูกให้อยู่ในสายตา ดังนั้นการที่มูลนิธิฯ ดังกล่าวอ้างว่าตีเด็ก เพราะเด็กจะไปเล่นน้ำเป็นอันตรายจึงไม่ถูกต้อง แต่มูลนิธิฯ ควรดูแลให้เด็กเล่นน้ำอย่างปลอดภัย เช่น สอนว่ายน้ำ หาชูชีพให้ เป็นต้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขแนวคิดอำนาจนิยม เปลี่ยนเป็นการปฏิบัติต่อเด็กอย่างละเอียดอ่อน สร้างวินัยให้เด็กด้วยอำนาจของความรัก ความเข้าใจ ความห่วงใย และความเคารพสิทธิ
2. สังคม หน่วยงานรัฐ เอกชน ต้องทำงานร่วมกันทำงาน เป็นภาคีหุ้นส่วนทางสังคม (Social partnership) ตรวจสอบกันและกัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่เกิดขึ้นมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต้องชื่นชมที่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและคามมั่นคงของมนุษย์ออกมาแทรกแซงไม่ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตสถานดูแลเด็ก ส่วนหน่วยภาคเอกชน และประชาสังคมสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้เช่นกัน
3. ต้องจัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์โรงเรียน (School Social Work) เพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก เฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และทำงานในมิติต่างๆ กับเด็ก เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กให้เต็มศักยภาพผ่านกระบวนการจัดการรายกรณี การประชุมร่วมกับครอบครัวและชุมชนในการร่วมกันแก้ไข และที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือ พม. ต้องเน้นมาตรการส่งเสริม สนับสนุน หากมีหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไขไปตามกระบวนการโดยเน้นประโยชน์สูงสุดที่เด็กเป็นสำคัญ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาวต้องส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ งบประมาณ ทักษะให้กับหน่วยงานที่ดูแลเด็ก รวมถึงประสานภาคีหุ้นส่วนทางสังคมให้เข้ามาทำงานร่วมกัน
ด้านนางวาสนา กล่าวว่า กว่า 30 ปี ที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดขึ้นตามหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกันโดยระลึกว่าเด็กมีสิทธิพิเศษที่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือคุ้มครอง ทั้งในสภาพแวดล้อมของครอบครัวและการเลี้ยงดูอื่น ๆ บนพื้นฐานของวัฒนธรรม ประเพณี สังคม โดยได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กำหนดขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมทั้งการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน มีพัฒนาการที่เหมาะสม ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กซึ่งถูกกกระทำความรุนแรง เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาก็ยังพบเด็กในประเทศไทยถูกกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ หลายครั้งอ้างว่าเป็นการอบรมสั่งสอนพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก แต่กลับส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งสะท้อนว่าผู้กระทำไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก และขาดทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งต้องใช้การเสริมแรงทางบวกมากกว่า
นางชะลิตา กล่าวว่า ตามที่มูลนิธิเส้นด้ายได้รับเรื่องร้องเรียน และเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายให้ออกมาอยู่ในความดูแลของ พมจ. สมุทรสงครามแล้วนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานสงค์เคราะห์แห่งนี้สะท้อนปัญหาหลายอย่าง อาทิ สัดส่วนครูผู้ดูแลกับจำนวนเด็กที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ปัญหาเด็กที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เนื่องจากบุคลากรของสถานสงเคราะห์ดังกล่าวที่มีโปรไฟล์ดี จึงทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเป็นประจำทุกปีเกิดความเกรงใจ เป็นต้น ทั้งนี้ตนเชื่อว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็กและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีเฉพาะสถานสงเคราะห์แห่งนี้เท่านั้น เพราะทุกวันยังมีรายงานข่าวคุกคามทางเพศ กระทำรุนแรงกับเด็ก ผู้หญิงเสมอ เพียงแต่ยังไม่มีการร้องเรียนหรือตรวจสอบพบ จึงอยากให้สังคมตระหนักช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเพื่อช่วยเหลือเหยื่ออย่างทันท่วงที สิ่งสำคัญคือหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงต้องทำงานให้เร็วกว่านี้ เลิกเกรงใจบุคคลหรือองค์กรที่ประวัติดี โปรไฟล์ดี ต้องติดตามตรวจสอบแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้.