ถึงแม้ว่าในตอนนี้ประเทศไทยจะอยู่ในลำดับต้นๆของอาเซียนในฐานะผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถ ICE (รถยนต์สันดาป) แต่ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของรถ BEV (รถยนต์ไฟฟ้าล้วน) นั้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงกับตำแหน่งผู้นำดังกล่าวอยู่ไม่น้อย การรักษาสถานะไปพร้อมๆกับการตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในตลาดรถยนต์นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเทรนด์การใช้รถของผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรปรับตัวให้ทันและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดยานยนต์ในอนาคตของประเทศไทยชี้ชัดว่าตลาดของรถ BEV นั้นมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วและส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และอะไรคือแนวโน้มที่ผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรรู้เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ วันนี้ LiB Consulting ได้วิเคราะห์ 5 ภาพสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยภายในปี 2030 ดังนี้
อัตราการผลิตรถยนต์ที่ลดลง
ขณะที่ตลาดโลกให้ความสนใจกับรถ BEV กันมากขึ้น แต่ในทางกลับกันประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นฐานการผลิตรถ BEV เหล่านั้น เมื่อความสามารถในการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคไม่สมดุลกัน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาการลดปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการ ICE จากตลาดต่างประเทศลดลง
ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบ ICE ที่สำคัญ
ถึงแม้ในอนาคตทั่วโลกจะให้ความสนใจกับเทรนด์รถยนต์ประเภท BEV แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการใช้รถ ICE และ Hybrid ทั่วโลกยังคงมีอยู่ เนื่องจากยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถยนต์ประเภท BEV เพียงพอ แนวโน้มที่ประเทศไทยจะกลายเป็นฐานการผลิต ICE เพื่อการส่งออกเป็นหลักก็จะยังคงดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องยอมรับคือปริมาณการส่งออกอาจมีจำนวนที่ลดลงไปตามความต้องการของตลาดโลก
ประเทศไทยผลิตรถ BEV เพื่อใช้งานในประเทศไทยอย่างเดียวและอัตราการส่งออกมีค่อนข้างน้อย
ในอนาคตประเทศไทยอาจเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับรถ BEV สำหรับการใช้งานภายในประเทศเป็นหลัก แต่การผลิตรถ BEV เพื่อการส่งออกนั้นกลับลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตหลายๆแบรนด์เลือกที่จะย้ายฐานการผลิตสำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือจีน เนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า และมีแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในการผลิตรถยนต์ไปมากถึง 40-50% ของสัดส่วนในปัจจุบัน
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบและส่งออกรถยนต์ BEV
เมื่อเทียบกับเทรนด์ของผู้บริโภครถ EV ของประเทศไทยในปัจจุบัน ในอนาคตประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท BEV ให้กับผู้ผลิตหน้าเดิม เพื่อการใช้งานในประเทศและส่งออก มีความเป็นไปได้ว่าชิ้นส่วนยานยนต์ประเภท BEV ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ ยกเว้นชิ้นส่วนบางอย่างที่ประเทศไทยยังขาดแคลนทรัพยากร เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งอาจจะมีการนำเข้ามาประกอบในไทย เมื่อความต้องการใช้รถ BEV ในไทยสูงขึ้น โอกาสที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะเลือกประเทศไทยให้เป็นฐานการประกอบรถยนต์เพื่อลดกำแพงภาษีก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น
ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์แบบ BEV เพื่อการส่งออกสู่ ASEAN
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าในประเทศตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีนเกิดการลงทุนอย่างสูงเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรองรับรถยนต์ประเภท BEV มีการวางแผนสร้าง consortium คล้ายแอร์บัสเพื่อพัฒนาและสร้างแบตเตอรี่ที่สามารถใช้ได้กับรถ BEV แต่ในทางกลับกันญี่ปุ่นกลับให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างน้อย หากประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสสำคัญในการปรับตัวครั้งนี้ได้ไว มีการลงทุน วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อรองรับ BEV จากทั้งผู้ผลิตหน้าเดิมและหน้าใหม่ในไทย โอกาสที่ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์แบบ BEV เพื่อการส่งออกของไปสู่ ASEAN นั้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก
จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงสิ่งที่ LiB Consulting ได้วิเคราะห์ถึงโอกาสความเป็นไปได้และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้เรามีความคิดเห็นจาก 2 ฝั่งผู้นำทั้งจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแชร์ไอเดียถึงสถานการณ์ความเป็นไปได้และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนตไฟฟ้าไทย เผยว่า “ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างมุ่งหวังให้ประเทศของเราเป็นศูนย์กลางของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพื่อการสร้างงานในประเทศ และหากภาครัฐจะสามารถสนับสนุนการเติบโตในด้านการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ BEV ในภูมิภาคนี้ก็เป็นไปได้สูง
อย่างไรก็ดี มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ควรให้ความสำคัญกับ EV ecosystem ที่รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาระบบ Autonomous, Connected, Electric and Shared Vehicles (ACES) ร่วมกับ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะมีบทบาทในภาคธุรกิจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี แม้ว่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมี Value Chain เพิ่มขึ้นตามเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงในทั่วโลก แต่ความกังวลของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย หากมีการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ประเภท BEV จะส่งผลกระทบต่อ Supply Chain เดิมที่มีอยู่อย่างไร เชื่อว่าคำถามนี้ เป็นคำถามที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยเองให้ความสนใจเป็นอย่างมาก”
ทางด้านคุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “ปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่นคุมส่วนแบ่งของตลาดยานยนต์ในบ้านเราไว้มากกว่า 70% ผมมองว่าเรายังคงสามารถรักษาฐานการผลิต ICE ที่เป็นจุดแข็งที่สุดของเรามาตลอด 50 ปีไว้ ในขณะเดียวกันเราก็สามารถตอบโจทย์ผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาจากประเทศจีนได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นช้าๆ ผู้ประกอบการในประเทศไทยก็ควรผันตัวเองให้ตอบรับการเข้ามาของรถ BEV ด้วย รับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้พัฒนาการผลิตแบบเดิมๆให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลายๆประเทศที่มีพื้นฐานในการผลิตรถยนต์แบบ ICE ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ และมองหาแนวทางในการปรับตัวที่ดีที่สุดเพื่อรองรับการเข้ามาของ BEV การที่ความต้องการของรถ BEV ในตลาดเกิดขึ้นเร็วก็จริง แต่ความต้องการใช้รถยนต์แบบ ICE จะยังคงดำเนินต่อไป”
การเกิดขึ้นของรถยนต์ประเภท BEV นั้นอาจส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาศักยภาพด้านการให้บริการ ทั้งการเดินทาง และ Service ที่เกี่ยวกับการเดินทางเนื่องจากมีความต้องการใช้รถ BEV ในประเทศสูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรโอกาสที่ประเทศไทยจะพบกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์ความสำเร็จไม่ตรงตามเป้าหมายก็มีอยู่เช่นกัน เพราะหากผู้เล่นหน้าเดิมตัดสินใจผลิตรถ BEV ช้าจนโดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป หรือผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ได้เข้ามาลงทุนใหญ่ๆในประเทศไทย ย่อมส่งผลให้การผลิตรถยนต์ประเภท BEV มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้คือการปรับตัวแบบ Two-legs Strategy ผู้ประกอบการไทยเองควรรักษาสิ่งที่เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพัฒนาศักยภาพไปพร้อมๆกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานในอนาคต
เกี่ยวกับ บริษัท ลิบ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) (LIB Consulting)
LiB Consulting (ประเทศไทย) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ จากญี่ปุ่นที่เน้นแนวทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นผลลัพธ์และลงมือปฏิบัติจริง
พันธกิจของเราคือ “เพิ่มบริษัทที่จะสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในศตวรรษหน้า” บริษัทของเราให้การสนับสนุน “ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์” ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ไปจนถึงการดำเนินการปรับปรุงผ่านการให้คำปรึกษาสำหรับบริษัทและหน่วยงานราชการ เราเชื่อว่าการให้คำปรึกษาสามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนบริษัทที่สร้างคุณค่าให้กับโลก