วงเสวนาถอดบทเรียน แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิแรงงาน–ละเมิดทางเพศ

วงเสวนาถอดบทเรียน แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิแรงงาน – ละเมิดทางเพศ เห็นตรงกันดูแลทุกคนเท่ากันไม่สนใจสถานะบุคคล ตำรวจ จับมือ อัยการ พม. พื้นที่ แก้ปัญหาเชิงรุก พร้อมวางแนวทางป้องกัน สู่การเยียวยารวดเร็ว พร้อมเผยข่าวดีปรับหลักเกณฑ์ การจ่ายเยียวยาเหยื่อครอบคลุมทุกคน ทั้งเข้าเมืองถูก-ผิดกม. ด้านสธ.-ก.แรงงาน ดูแลเต็มที่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และโครงการเพื่อหญิงย้ายถิ่นแม่สอดภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Safe & Fair และ UN Women Thailand ได้สัมมนาเรื่อง “บทเรียนและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการเข้าถึงความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบความรุนแรง”

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากข้อมูล พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงในชีวิต ในประเทศไทย พบผู้หญิง 44% ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จัก และ 87 % ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้ขอความช่วยเหลือใดๆ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แรงงานหญิงข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ และยิ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากปัญหาด้านภาษา และการไม่รู้สิทธิ อคติต่อแรงงานข้ามชาติ หรือสถานภาพการเข้าเมือง เป็นต้น การสัมมนาในวันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันน่าจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแก่แรงงานหญิงข้ามชาติตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติต่อไป

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 1ในผู้ร่วมอภิปราย กล่าวว่า รัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุต่างๆอาทิเชื้อชาติ สถานะของบุคคล จะกระทำมิได้ ดังนั้น สถานะการเข้าเมืองของผู้เสียหายในคดีอาญา จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการเยียวยา และกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐอเมริกามีแนวปฎิบัตืที่จะทำให้ผู้เสียหายสบายใจที่จะเช้าแจ้งความ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับสถานะการเข้าเมืองของตน ประกอบด้วย 3 Don’t ได้แก่ 1) Don’t Ask ไม่ให้ตำรวจสอบถามผูเสียหายเรื่องสถานะการเข้าเมือง 2) Don’t tell ไม่ให้ตำรวจส่งต่อข้อมูลสถานะการเข้าเมืองแก่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง 3) Don’t Enforce ไม่ให้ตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเมืองกับผู้เสียหาย ซึงถิอเป็นข้อท้าทายในการดำเนินการสำหรับประเทศไทย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2565 มีประมาณ 360 คดี มากกว่าการจับกุมตั้งแต่ปี 2561-2564 รวมกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป จะเน้นทั้งการป้องกัน และการปราบปราม โดยตำรวจและ อัยการ จะทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะทำงานร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการเยียวยาที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี เพิ่มกระบวนการทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพ และล่ามในการคัดแยกเหยื่อด้วย โดยจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศให้ครบ 100% ภายในปี 2566 จากปัจจุบันที่อบรมไปได้ 17-18 % ในช่วงท้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ตอบข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม (NGO) ที่ต้องการให้ สตช. มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เรื่องการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องสถานะบุคคลของผู้เสียหาย ว่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างร่างระเบียบ

นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า หากเป็นผู้พักพิงอยู่ใต้ชายคาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือแรงงานต่างชาติ ถือว่าเป็นครอบครัว แรงงานข้ามชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแล ดังนั้นเราจึงร่วมกับยูเอ็น จัดทำระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติระดับชาติ เพื่อยุติและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเหตุฉุกเฉิน ต้องได้รับการช่วยเหลือก่อนค่อยมาว่ากันเรื่องของการเข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อไป

นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการดูแลสิทธิแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1111 กด 77, แอพพลิเคชั่น Justice Care และ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งจะช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรี และน่ายินดีที่เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเห็นชอบให้จ่ายเยียวยา แก่จำเลยในคดีอาญา โดยให้จ่ายกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นแพะในคดีความ ไม่ว่าจะเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายก็ตาม และหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จากเดิมที่ให้เฉพาะคนเข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้น

นางสาวนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยราวๆ 2.2 ล้านคน ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิแรงงานจะมีมาตรการเชิงรุก คือลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ โดยเฉพาะที่เสี่ยงจะละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ภาคเกษตร และประมง ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบแรงงานข้ามชาติหญิงถูกละเมิดสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกว่า 2 หมื่นราย เช่น สิทธิวันหยุด วันลา ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดรับเรื่องร้องเรียนด้วย โดยไม่ดูว่าเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ หากถูกละเมิดก็จะคัดกรองระดับความเสียหาย และให้การช่วยเหลือก่อน จากนั้นค่อยว่ากันในเรื่องของความผิดหลบหนีเข้าเมือง

นพ.ปณิธาน รัตนสาลี รอง ผอ. กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เป็นการรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชนไปก่อน เรื่องค่ารักษา และอื่นๆค่อยมาว่ากันทีหลัง ซึ่งเมื่อมีเคสเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ทำการประเมิน และระหว่างรักษาก็จะร่วมกับสหวิชาชีพในการตรวจสอบข้อมูล ว่าหากรักษาหายแล้วจะสามารถกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว หรือชุมชนได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำที่อาจจะรุนแรงขึ้น

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *