ตามที่สื่อมวลชนรายงานข่าวนายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ภายแอบถ่ายพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พร้อมข้อความในลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศ อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์กับสื่อในทำนองว่าพฤติกรรมดังกล่าวของตนเอง “ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย” “ไม่ได้มีเจตนาคุกคามทางเพศ” และ “กรณีนี้อาจเป็นความเข้าใจผิด” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 นั้น
เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ที่มีรายนามด้านล่างนี้ ขอประณามพฤติกรรมของอธิการบดีคนดังกล่าว เนื่องจากพฤติกรรมการแอบถ่ายและเผยแพร่ภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งโพสต์ข้อความในลักษณะส่อนัยทางเพศตามที่ตกเป็นข่าวเข้าข่ายเป็น การคุกคามทางเพศ ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมการแสดงออกใด ๆ ที่บุคคลหนึ่งกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่ง ที่มีนัยทางเพศ โดยบุคคลที่ตกเป็นเป้าของพฤติกรรมนั้นไม่ได้ยินดีหรือยินยอม ส่งผลให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ รู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย และรวมถึงพฤติกรรมที่เป็นการปฏิบัติเสมือนบุคคลอื่นเป็นวัตถุทางเพศด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการคุกคามทางเพศและละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของผู้ประกอบอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยรวมด้วย
ในฐานะที่นายชัยชาญ ถาวรเวช มีตำแหน่งทางราชการระดับสูง เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งพึงมีบทบาทเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมที่สะท้อนถึงมาตรฐานจริยธรรมทางเพศที่ตกต่ำ ถือเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ทั้งกับบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยและสาธารณชน ประกอบกับการที่นายชัยชาญออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนถึงการกระทำของตนเองในลักษณะที่เป็นการแก้ต่างแบบขอไปที ตามข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น ยังไม่ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตนเองอย่างเพียงพอ
สภามหาวิทยาลัยศิลปากร และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงต้องไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ จะเท่ากับเป็นการยอมรับและสนับสนุนให้ปัญหาการคุกคามทางเพศยังดำรงอยู่ในสังคมต่อไป
เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ขอเรียกร้องให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการให้มีการสอบสวนและลงโทษอธิการบดีของมหาวิทยาลัย จากการแสดงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่สะท้อนถึงมาตรฐานจริยธรรมที่ตกต่ำดังกล่าว โดยให้มีการดำเนินการโดยทันที ไม่ทอดเวลาชักช้า และชี้แจงผลการดำเนินการให้สาธารณชนรับทราบเป็นระยะด้วย เพื่อยืนยันให้สังคมมั่นใจว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากรไม่ได้ยอมรับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าว
ออก ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 โดย เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 21 องค์กร
เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ประกอบด้วย
- แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
- สมาคมเพศวิถีศึกษา
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว
- ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท (FORWARD)
- มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
- มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา
- กลุ่มไม้ขีดไฟ
- เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต
- เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง
- ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม
- โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศในประเทศไทย
- เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิภาคประชาชน
- SWAN Foundation มูลนิธิเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี
- กลุ่ม TEAK – Trans Empowerment
- เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม
- สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
- เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์
- เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน
- เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม
- มูลนิธิผู้หญิง
- มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
- สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
- กลุ่มทำทาง
ประสานงานที่ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท โทร. 087 4976290