มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ สานต่อโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อ นิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 6 เนื่องในวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2021)
วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันปอดอักเสบโลก หรือ World Pneumonia Day เพื่อตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมร่วมรณรงค์ปลุกจิตสำนึก และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูงสุดโรคหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเพชรฆาตที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 672,000 คน1 และในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 ล้านคน ในปี พ.ศ.2563 รวมเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ2 ทั้งนี้ใน 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาวิกฤตโรคระบาด การสร้างการรับรู้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคปอดอักเสบและวิธีการป้องกันจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก โดยวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือวัคซีน IPD เป็นหนึ่งใน Pneumonia-fighting-vaccines ที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดในช่วงวิกฤตโควิด-19
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์โรคปอดอักเสบที่ไม่รวมการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 125,129 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 183 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี(รายงานการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)3 “โรคปอดอักเสบ” หรืออีกคำที่รู้จักกันดีคือ “โรคปอดบวม” เป็นอีกโรคหนึ่งที่มาพร้อมกับฤดูฝน และฤดูหนาว พบได้กับทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุแต่สำหรับในเด็กนั้นนับได้ว่าเป็นโรคร้ายลำดับต้น ๆ ตามสถิติแล้วปอดอักเสบถือได้ว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี4 โดยสาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ที่พบบ่อยในเด็กคือเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) โดยเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักจะเกาะอยู่ที่บริเวณในคอของเด็กเฉย ๆ โดยยังไม่ได้ทำให้เป็นโรค แต่สามารถแพร่กระจายออกไปให้ผู้ที่อยู่รอบข้างได้ ผ่านทางการไอ จาม หรือโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคอยู่ และเมื่อใดที่เชื้อที่อยู่ในคอแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายจะทำให้เกิดโรคที่รุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะลงไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงอาจพบมีหนอง ในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือหากแพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือด หรือเข้าสมอง ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน หรือ ไอพีดี (IPD) ย่อมาจากคำว่า Invasive Pneumococcal Disease ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงและอาจเสียชีวิตได้”
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า “โรคไอพีดี (IPD)เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส เป็นโรคที่มีอาการรุนแรง โดยอาการขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อของอวัยวะส่วนใด อาจเป็นได้ตั้งแต่การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจจะมีหรือไม่มีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นภาวะที่รุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ และถึงแม้จะรอดชีวิตก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความพิการและผลกระทบตามมาในระยะยาวได้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคไอพีดียังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบปีแรก5 และเด็กทารกที่เคยป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีโอกาสสูญเสียการได้ยิน พิการทางสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และมีอาการชักได้ เด็กทั่วไปโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอพีดีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีน้ำไขสันหลังรั่ว รวมถึงเด็กที่เคยได้รับการผ่าตัดใส่ชุดประสาทหูเทียม นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่แออัด ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไอพีดี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กต่าง ๆ อย่างไรก็ตามโรคไอพีดีทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ลดการป่วยที่รุนแรงได้ โดยผู้ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับการฉีดวัคซีนนี้คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสและเกิดอาการรุนแรง ยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กทารกยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อนิวโมคอคคัสได้ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีเข็มแรกตั้งแต่อายุ 2 เดือน และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และเข็มสุดท้ายเป็นเข็มกระตุ้น ในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนอยู่แออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดและอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และหากสงสัยว่าลูกเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบหรือไอพีดี ก็ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที”
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ได้ร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สานต่อโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทย และเชื่อมั่นเสมอมาว่า “วัคซีน” ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพ นอกจากจะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือโรคไอพีดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อร่วมกันระหว่างเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อนิวโมคอคคัสทำให้ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงอยากเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของวัคซีนไม่เฉพาะวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือโรค ไอพีดีด้วย มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ตามเป้าประสงค์หลักของมูลนิธิฯ และพร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวัคซีนที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยในปีนี้ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และสมควรได้รับการป้องกันเป็นอันดับแรก เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในเด็กกลุ่มนี้ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไม่ให้ระบาดจากครัวเรือนขยายออกไปในชุมชน โดยในปีนี้เราได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 5,000 โด๊ส เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 35 โรงพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้มูลนิธิฯ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้เด็กไทยได้เข้าถึงและได้รับวัคซีนกันทั่วประเทศ”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคปอดอักเสบในผู้ใหญ่ว่า “โรคปอดบวม หรือ โรคปอดอักเสบ คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอด รวมไปถึงหลอดลมทำให้ความสามารถในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเหล่านี้ลดลง สำหรับในผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกันกับเด็ก สาเหตุอาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเชื้อนิวโมคอคคัส สำหรับในผู้สูงอายุซึ่งจะมีภูมิต้านทานที่ลดลงตามอายุ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบ เช่น การติดเชื้อใน กระแสเลือดหรือมีอาการรุนแรงจนระบบหายใจล้มเหลว โรคปอดอักเสบมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ อาการอาจจะเริ่มจากคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ มีเสมหะ ต่อมาเมื่ออาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียได้ เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจต้องมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ พักฟื้นในห้องไอซียู หรืออาจเสียชีวิต สังเกตได้ว่าอาการจะใกล้เคียงกับโรคโควิด-19 ทำให้แยกจากกันได้ค่อนข้างยากซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งต่อโรคโควิด-19 และโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ก็ยังมีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด หรือมะเร็งปอด ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นทั้งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ก็ยังคงมีความจำเป็นในผู้ใหญ่เช่นเดียวกับในเด็ก อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขอนามัยล้างมือบ่อย ๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่างกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสและหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ”
อนึ่งโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 6 เนื่องในวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2021) โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและสมาคมโรคติดเชื้อ ในเด็กแห่งประเทศไทย ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี (IPD) ให้กับเด็กไทยทั่วประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดี (IPD) และไม่สามารถเข้าถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนี้ โดยจะเริ่มส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางทั่วทุกภูมิภาคตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป
เอกสารอ้างอิง:
- World Health Organization (World Pneumonia Day 2021) at
https://stoppneumonia.org/latest/world-pneumonia-day/
- World Health Organization (World Pneumonia Day 2021) at
https://stoppneumonia.org/latest/world-pneumonia-day/
- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506. at http://doe.moph.go.th/surdata/506wk/y64/d31_4364.pdf
- Benet T et al. Am. J. Trop. Med. Hyg. 2017;97(1):68–76
- WHO. Global immunization data. 2014. Accessed 27 Oct 2021. http://www.who.int/immunization/monitoring_surveillance/global_immunization_data.pdf