ศพช.ลำปาง ลงพื้นที่เยี่ยมคลังอาหารชุมชนตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน แหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ความสมดุล สมบูรณ์ และยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตระดับตำบล
วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น. นางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ลงพื้นที่เยี่ยมคลังอาหารชุมชนตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยมีนางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการอำเภอแม่ทา และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ร่วมลงพื้นที่ฯ ณ บ้านดอยแช่ หมู่ที่ 3 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเน้นการพึ่งตนเองและความสามัคคีของคนในชุมชน และสร้างขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาขยายผลการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายในตำบลให้เกิดความยั่งยืน
สืบเนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชน มีนโยบายในการเสริมสร้างพลังและยกระดับขีดความสามารถของชุมชน ให้สามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชน เพื่อใช้พลังชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นตำบลต้นแบบของจังหวัดลำพูน ที่ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การปฏิบัติในพื้นที่ เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างคลังอาหารชุมชนตำบลทากาศ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนตำบลทากาศมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนและพึ่งตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร จากพื้นที่ว่างของวัดดอยแช่ จำนวน 9 ไร่ ผ่านการร่วมแรงร่วมใจลงแรงกันเอามื้อสามัคคีปลูกพืชผักสวนครัว ทำแปลงผักรวมของแต่ละหมู่บ้าน ปลูกพืชผักสวนครัวที่จำเป็น เช่น พริก มะเขือเปราะ มะเขือยาว โหระพา ปลูกไม้ผล เช่น กล้วย มะนาว ผักหวานป่า โดยตำบลทากาศได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำไปปลูกและขยายพันธุ์ต่อในพื้นที่ สู่การจัดตั้งกองทุนพันธุ์พืชเพื่อเป็นทุนในการผลิตต้นกล้า พันธุ์ผักที่มีคุณภาพ สร้างอาหารปลอดภัย จนมีผลผลิตแบ่งปันให้กับครัวเรือนยากไร้และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และนำผลผลิตไปจำหน่ายในราคาย่อมเยาภายในตำบล สร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ยังได้ร่วมกับพระและเณรในวัด จัดให้มีคลังอาหารวัดปันสุข ปลูกพืชผักสวนครัว เป็นคลังอาหารพระทำปันสุขสู่ชุมชน เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปเก็บผลผลิต เพื่อการบริโภคและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลการเพาะเห็ดนางฟ้า ขยายพันธุ์ผักพื้นบ้าน เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อเป็นสารอาหารธรรมชาติที่ปลอดภัยในการบำรุงพืชผักในคลังอาหารชุมชน ตลอดจนมีพื้นที่ของครัวเรือนภายในตำบล ที่ได้มีการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อสร้างการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบ โคก หนอง นา ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา ของหมู่บ้านและตำบล ในการเผยแพร่ ขยายผล สร้างการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับคนในตำบลและตำบลใกล้เคียง
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ที่ต้องหันมาพึ่งพาตนเอง ซึ่งจากการดำเนินงานของผู้นำชุมชนและคนในตำบลในการสร้างคลังอาหารชุมชนตำบลทากาศขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นแหล่งอาหารของตำบล เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนในระยะยาว โดยเริ่มจากครอบครัว หนึ่งครัวเรือนสามารถดูแลได้หนึ่งชุมชน หนึ่งชุมชนสามารถดูแลได้หนึ่งหมู่บ้าน และหนึ่งหมู่บ้านสามารถดูแลได้หนึ่งตำบลนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการปลูกพืชผักสวนครัวตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จึงเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย คนในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโดยการผลิตเองในครัวเรือน/ชุมชนไว้บริโภค จำหน่าย และแบ่งปันกัน ทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีอาหารเพียงพอ อาหารปลอดภัย สร้างสุขภาวะที่ดี รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามหลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) สู่การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ผ่านความสามัคคี เกื้อกูล และช่วยเหลือกันในตำบล ท้ายที่สุดจะเกิดเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้พลังชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ในภาวะวิกฤต COVID-19
ภาพ/ข่าว: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปางและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน