เบนท์ลีย์ เผยโฉมรถแข่งไพค์สพีค รุ่นใหม่ล่าสุด คอนติเทนทัล จีที3

เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส เผยโฉมรถแข่งไพค์สพีครุ่นใหม่ล่าสุด คอนติเทนทัล จีที3 ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน พร้อมกลับคืนสู่สังเวียนตำแหน่งแชมป์”

-เบนท์ลีย์ มอเตอร์สนำร่องสู่ความยั่งยืนด้วยอัครยนตรกรรมใหม่ล่าสุด พร้อมกลับคืนสู่สังเวียน ทวงตำแหน่งแชมป์ไพค์สพีค
-คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค รถแข่งขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานหมุนเวียน
-อัครยนตรกรรมรุ่นเอ็กซ์คลูซีฟ รถแข่งที่ทรงสมรรถนะที่สุดของเบนท์ลีย์
-ความพยายามที่จะชิงตำแหน่งแชมป์ 3 สมัย ในประวัติศาสตร์การแข่งขันไพค์สพีค
-ตั้งเป้าทำลายสถิติการแข่งขันด้วยความเร็ว (Time Attack) ที่เคยทำไว้กับอัครยนตรกรรมเอสยูวี เบนเทก้า ในปี พ.ศ. 2561 และ คอนติเนนทัล จีที ในปี พ.ศ. 2562
-อดีตผู้ชนะการแข่งขันไพค์สพีค รีส มิลเล็น (Rhys Millen) กลับมาควบเบนท์ลีย์ชิงชัยอีกครั้ง
– คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค พัฒนาร่วมกับทีมฟาส์ต (Fastr) กลุ่มลูกค้า คอนติเนนทัล จีที3
-การแข่งขันรายการ ไพค์สพีค อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิลล์ ไคลมป์ (Pikes Peak International Hill Climb) จะมีขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2564

(ครูว์, 9 เมษายน 2564) เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส เผยโฉมอัครยนตรกรรมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเอาหลักการวิจัยและพัฒนาการนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาประยุกติ์ใช้กับยนตรกรรม ก่อให้เกิดอัครยนตรกรรมที่ทรงสมรรถนะที่สุดในประวัติศาสตร์ 101 ปีของเบนท์ลีย์ โดย เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อลงชิงชัยในรายการแข่งขันด้วยความเร็ว (Time Attack) ของรายการ ไพค์สพีค อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิลล์ ไคลมป์ (Pikes Peak International Hill Climb) ในปีนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์รุ่นแรกที่ใช้ระบบพลังงานแบบหมุนเวียน ก่อนที่จะถูกนำมาประยุกติ์ใช้กับอัครยนตรกรรมรุ่นอื่นๆที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าทั่วโลก

รถแข่ง เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 (The Continental GT3) คันนี้ ซึ่งถูกพัฒนาบนหลักการพื้นฐานของรถแข่งเบนท์ลีย์จะเข้าชิงชัยในรอบ 12.42 ไมล์ ด้วยระบบเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel-based Gasoline) โดยขั้นตอนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถูกทดสอบและประเมินบนพื้นฐานของหลักการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ให้ได้ถึง 85% ซึ่งถือว่ามากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) สิ่งนี้จึงเป็นก้าวแรกของจุดเริ่มต้นในการวิจัยและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) และเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-Fuels) เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในการขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืนของเบนท์ลีย์

โดย กลยุทธ์ “Benyond 100” จะขับเคลื่อนเบนท์ลีย์ไปสู่ผู้ผลิตอัครยนตรกรรมหรูที่ยั่งยืนชั้นนำของโลก พร้อมกับอัครยนตรกรรมของเบนท์ลีย์ที่จะใช้พลังงานไฮบริด (Hybrid) ทุกรุ่นภายในปี พ.ศ. 2566 ก่อนที่จะเป็นผู้ผลิตอัครยนตรกรรมไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) เต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการนำเอาพลังงานแบบหมุนเวียนมาใช้นั้นได้แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของแผนงานระยะยาว พร้อมด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเอาการใช้พลังงานหมุนเวียนมาใช้กับอัครยนตรกรรมของลูกค้า ร่วมไปกับการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยทั้งสองกลยุทธ์นี้จะขับเคลื่อนเบนท์ลีย์ไปผู้ผลิตอัครยนตรกรรมรักษ์โลก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “Benyond 100”

สำหรับเครื่องยนต์สันดาป ทางเบนท์ลีย์ มอเตอร์สจะยังคงดำเนินการผลิตต่อไปอีก 9 ปี และแผนงานใหม่ที่ออกมาจะช่วยต่อยอดให้อัครยนตรกรรมของเบนท์ลีย์เป็นอัครยนตรกรรมที่รักษ์โลกด้วยการประยุกติ์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกว่า 80% ของอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ที่ผลิตนั้น ยังคงอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การมอบทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงแบบหมุนเวียนให้กับลูกค้าจะเป็นการมอบประสบการณ์ที่พิเศษสำหรับผู้ที่ครอบครองอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ทั้งรุ่นคลาสิกและรุ่นปัจจุบัน

ดร. แมทเทียส เรบบ์ ประธานบริหารฝ่ายวิศวกรรม เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่จะได้กลับมาแข่งขันในรายการไพค์สพีคเป็นครั้งที่สาม และครั้งนี้เป็นการนำอัครยนตรกรรมพร้อมกับพลังงานแบบหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งถือเป็นแผนงานเริ่มต้นสำหรับส่วนงานอื่นๆ ของกลยุทธ์ “Beyond 100” ของเรา อีกทั้งวิศวกรเครื่องยนต์ของเราได้ดำเนินการด้านงานวิจัย ทั้งในด้านงานวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-fuels) สำหรับใช้กับรถยนต์ลูกค้าร่วมไปกับงานวิจัยด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยมีความคืบหน้าไปกว่าครึ่งทางแล้วในส่วนของแผนการดำเนินงานด้านการนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ที่โรงงานเบนท์ลีย์ มอเตอร์ส และรถยนต์ที่ใช้ที่โรงงานฯ สำหรับ เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) จะแสดงให้เห็นถึงการนำเอาพลังงานเชื้อเพลิงแบบหมุนเวียนมาใช้ในการผลักดันวงการมอเตอร์สปอร์ตในแบบรักษ์โลก และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เราคว้าชัยในรายการนี้ได้เป็นครั้งที่สาม”

โครงการไพค์สพีคของเบนท์ลีย์ได้ถูกพัฒนาร่วมกับกลุ่มลูกค้าของ เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 (The Continental GT3) ในนาม “ฟาส์ต” (Fastr) กลุ่มลูกค้าที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันรถแข่งเบนท์ลีย์ในการแข่งขันด้วยความเร็ว (Time Attack) มาแล้วทั่วประเทศอังกฤษ ทั้งทีมงานด้านเทคนิคของเบนท์ลีย์เองและทีมงานจาก “ฟาส์ต” (Fastr) ต่างร่วมมือกันกับผู้เชี่ยวชาญจาก M-Sport ในเขตคัมเบรียเพื่อดึงเอาสุดยอดของสมรรถนะจาก เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 (The Continental GT3) มาใช้ โดยมีแผนลงแข่งขันในโคโลราโดโดยทีมงานพร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากทีม K-PAX Racing

ในการทำลายสถิติ เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) ต้องแข่งขันขับขึ้นทางลาดชันที่มีความสูงกว่า 5,000 ฟุต ซึ่งประกอบด้วยทางโค้งกว่า 156 โค้ง ด้วยความเร็วเฉลี่ย 125.53 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง เพื่อให้เข้าเส้นชัยภายในเวลา 9 นาที 36 วินาที โดยมีอดีตผู้ชนะการแข่งขันไพค์สพีคติดต่อกัน 3 รายการอย่าง รีส มิลเล็น (Rhys Millen) กลับมาควบเบนท์ลีย์ชิงชัยอีกครั้ง โดยรีส มิลเล็น (Rhys Millen) ได้เคยทำสถิติการแข่งขันด้วยความเร็ว (Time Attack) กับรถเอสยูวี เบนเทก้า เครื่องยนต์รุ่น W12 (Bentayga W12) ในปี พ.ศ. 2561 และ คอนติเนนทัล จีที ในปี พ.ศ. 2562 มาแล้ว

อัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ที่ทรงสมรรถนะที่สุดในประวัติศาสตร์
จากจุดสตาร์ทการแข่งขันเริ่มต้นที่ความสูง 9,300 ฟุต นักแข่งจะต้องขับไปที่ความสูงกว่า 14,100 ฟุต โดยที่มีความหนาแน่นของอากาศเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของอากาศในความสูงระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งสภาพแวดล้อมลักษณะนี้ การออกแบบ เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) จึงต้องคำนึงถึงหลักการแอร์โรไดนามิค (Aerodynamics) และสมรรถนะของเครื่องยนต์เป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นอัครยนตรกรรมที่ทรงสมรรถนะที่สุดในประวัติศาสตร์ของเบนท์ลีย์ได้เป็นอย่างดี

การออกแบบอย่างลงตัวด้วยสปอยเลอร์หลังขนาดใหญ่ที่ถูกประกอบเข้ากับส่วนหลังของตัวรถบนดิฟฟิวเซอร์หลัง ล้อมรอบกระปุกเกียร์ส่งกำลัง และอุปกรณ์แอร์โรไดนามิคติดตั้งบริเวณด้านหลังทำให้สมดุลกันกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง

สำหรับเครื่องยนต์ของเดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) นั้น เครื่องยนต์ได้ถูกพัฒนามาจากเครื่องยนต์รุ่น V8 เทอร์โบ ขนาด 4 ลิตร ที่ใช้กับเดอะ คอนติเนนทัล จีที (Continental GT) โดยถูกพัฒนาเพื่อใช้กับเชื้อเพลิงชีวภาพและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครื่องยนต์จะสามารถผลิตพละกำลังได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีระบบท่อไอเสียด้านข้างลำตัวรถเพื่อให้เสียงที่ดุดันเข้ากับรูปลักษณ์ที่แข็งแกร่งของตัวรถ

มากไปกว่านั้น ยังมีการพัฒนาในส่วนของระบบแอร์ทำความเย็นแทนที่กระจกด้านหลังห้องโดยสาร และนาฬิกาจับเวลาบริเวณพวงมาลัย เพื่อให้นักแข่งสามารถควบคุมเวลาขณะแข่งขันได้

เดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและพัฒนาในประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะถูกส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับการทดสอบภายใต้ความดันต่ำ (Altitude Testing) โดยข้อมูลเพิ่มเติมจะประชาสัมพันธ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนการแข่งรายการ ไพค์สพีค อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิลล์ ไคลมป์ ครั้งที่ 99 (Pikes Peak International Hill Climb) ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 สำหรับข้อมูลเชิงเทคนิคเพิ่มเติมของเดอะ คอนติเนนทัล จีที3 ไพค์สพีค (The Continental GT3 Pikes Peak) จะมีการประกาศให้ทราบในภายหลัง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *