ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เตือนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM2.5 และรับมือการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในการระบาดระลอก 2”

30 พฤศจิกายน 2563 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย  : พลอากาศโท นพ.อนุตตร  จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคม

พลอากาศโท นพ.อนุตตร  จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

อุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน จากเรื่องของฝุ่นละออง PM2.5 และสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ด้วยความเข้มแข็งของภาครัฐและภาคประชาชนในเกือบตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสูญเสียค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมียอดผู้ป่วยคนไทยรายใหม่เพิ่มขึ้น

เตือนรับสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM2.5

          รศ. นพ.นิธิพัฒน์  เจียรกุล  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ในระยะนี้ เริ่มตั้งแต่ในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ทุกคนต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ  เมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีโรคเรื้อรัง เด็ก ผู้สูงอายุ และ สตรีมีครรภ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ถ้าเป็นสีแดง ขอให้ทุกคนหลีกเลี่ยง กรณีคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 หรืออย่างน้อยเป็นหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น โดยไม่ว่าจะใช้หน้ากากชนิดใดต้องสวมใส่ให้กระชับใบหน้าและจำกัดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด

PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตรแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูงทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไปจะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย

โดย PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไอเสียจากยานพาหนะ การเผาไหม้ในครัวเรือนและที่โล่งแจ้ง ควันและก๊าซจากโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง และ สารที่เกิดจากกระบวนการทางเกษตรกรรม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของเนื้อเยื่อปอด ทำให้ในระยะสั้นเกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้นรวมถึงโรคโควิด-19 โรคหืดและโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ ส่วนในระยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอยและมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น และเนื่องจากสามารถหลุดรอดผ่านกระแสเลือด ไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกายด้วย จึงทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรังตามมา รวมถึงโรคสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย

          ปัจจุบันประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องนี้ในทุกภาคส่วนกันมากขึ้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการของทั้ง ภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อหามาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด ลดการสูญเสียโดยมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ พร้อมแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว รณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลางแจ้ง ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นอย่างถูกต้องและจัดหาให้เพียงพอ เสริมอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพในที่พักอาศัย รวมถึงจัดหาสถานที่หลบภัยสาธารณะสำหรับประชาชนที่ขาดความพร้อม 

ด้าน ผศ. นพ.สมเกียรติ  แสงวัฒนาโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก เรียกมลพิษในอากาศว่า ฆาตกรที่มองไม่เห็น เพราะสัมพันธ์กับการเพิ่มการตายจากโรคปอดร้อยละ 43 ตายจากโรคมะเร็งปอดร้อยละ 29 ตายจากโรคหัวใจร้อยละ 25 และตายจากโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 24

​“มลพิษในอากาศสัมพันธ์กับการตายทุกสาเหตุของคนไทย ซึ่งในปี 2560 มีอัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษในอากาศทั้งในและนอกบ้านร้อยละ 28.5 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน (เมื่อเทียบกับอัตราตายจากการบาดเจ็บบนท้องถนนร้อยละ 24.2 ต่อประชากรแสนคน) และมลพิษในอากาศที่ก่อผลเสียต่อสุขภาพชาวโลกและชาวไทยมากที่สุด คือ PM2.5 ซึ่งการป้องกันโรคและลดผลกระทบที่เกิดจาก PM2.5 ด้วยตนเอง นอกจากการใส่หน้ากากอนามัย, ป้องกันมลพิษในอากาศภายนอกบ้านเข้าในบ้าน, ดูดฝุ่น ทำความสะอาดบ้านและระบายอากาศในห้องให้ถ่ายเทได้ดี, ใช้เครื่องกรองอากาศ, ไม่สร้างฝุ่นในบ้าน เช่น จุดฟืนไฟในบ้านแล้ว การดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ทั้งกายและใจ เรื่อง อ.อาหาร อ.อิริยาบถ และ อ.ออกกำลังใจ ก็สามารถช่วยลดภัยที่เกิดจากมลพิษ PM2.5 ดังกล่าวได้” ผศ.นพ.สมเกียรติกล่าว

การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยและการระบาดระลอก 2

ศ. นพ.โอภาส  พุทธเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนสูงขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน​ 2563 มีผู้ป่วยประมาณ 60 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 1.4 ล้านราย อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2  มีบางประเทศที่การติดเชื้อเข้าสู่ระลอกที่ 2 หรือ 3 สำหรับในประเทศไทยการติดเชื้อเป็นจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ  ที่มีการระบาดและสามารถตรวจพบจากการการคัดกรองที่สถานกักโรคต่าง ๆ ของภาครัฐบาล โอกาสการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศไทยอาจเกิดจากที่มีผู้ป่วยที่หลุดรอดจากระบบการคัดกรองที่อาจจะเข้ามาตามช่องทางต่าง  ที่ผิดกหมาย ดังนั้นการป้องกันการเกิดการระบาดระลอกที่ 2  จึงควรมีมาตรการในการค้นผู้ป่วยเหล่านี้ที่มีโอกาสเข้ามาในที่ชุมชน โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อบ้านที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เข้ามาอาจจะไม่มีอาการและการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์  ที่ทำให้ความสามารถในการติดเชื้อเกิดง่ายขึ้น สำหรับในประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาว การที่มีความชื้นลดลง  อาจจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ประกอบกับมีการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่และเป็นวันหยุดยาว จะทำให้คนมาอยู่ในที่ แออัดมากขึ้น จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

     ในส่วนของการรักษาโรคโควิด-19 ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่มากขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู มีอัตราการตายที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการติดโรคในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การรณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยและการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่กำลังรอวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19

วัคซีน โควิด-19 ความหวังโลก ความหวังไทยเป็นอย่างไร

. พ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนทั่วโลก ว่า วัคซีนที่กำลังเข้าสู่การทดสอบในอาสาสมัครทั่วโลกมีประมาณ 66 วัคซีน ทั้งนี้มี 12 วัคซีน (4 เทคโนโลยี)ที่กำลังทดสอบในระยะที่  3 โดย ผลการทดสอบวัคซีนได้ผลดีมาก มาจาก 3 บริษัทคือ ไฟเซอร์, โมเดินน่า และ แอสตร้าเซนิก้าซึ่งทั้ง 3 วัคซีน แจ้งผลทดสอบในระยะที่สาม และจากการวิเคราะห์เบื้องต้นสามารถป้องกันการติดเชื้อหรืออาการป่วยรุนแรงของโควิด-19 ได้สูงเกินคาดหมาย ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของ ไฟเซอร์ และ โมเดินน่า ได้ผลถึงร้อยละ 95 และวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสอื่นเป็นตัวพาของ แอสตร้าเซนิก้า ได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 70  (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึงร้อยละ 90 )  ข้อดีของวัคซีนนี้ คือ ตั้งราคาถูกมากไม่เกินเข็มละ 5 ดอลลาร์สหรัฐและจัดเก็บง่ายที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส  

ได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 70 (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึงร้อยละ 90 ) ของวัคซีนนี้ คือ ตั้งราคาถูกมากและจัดเก็บง่ายที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส

ดังนั้นคาดว่า จะมีอย่างน้อย 1-2 วัคซีน จะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ,อังกฤษและยุโรป เพื่อใช้ในกรณีภาวะฉุกเฉินภายในสิ้นปีหรือต้นปีหน้าอย่างแน่นอน  ส่วนวามท้าทายของโลก เมื่อไหร่จะมีวัคซีนใช้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทั่วไป ที่แน่นอนคือ จำนวนวัคซีนที่จะผลิตได้ในสิ้นปีนี้น่าจะน้อยกว่า 100 ล้านโดสฉะนั้นคงจะมีให้เฉพาะประเทศที่ได้จองล่วงหน้าไว้แล้วเท่านั้น และคาดว่าวัคซีนคงจะมีการผลิตมากขึ้นเป็นหลายพันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า (2564) แต่อย่างไร

ก็ตาม คงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอสำหรับร้อยละ 50 ของประชากรโลก คือมากกว่า 3,900 ล้านคน ซึ่งต้องฉีดสองเข็ม ก็คือประมาณ 7,800 ล้านโดส

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล

สำหรับประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้เมื่อไหร่ รัฐบาลมีนโยบายคู่ขนาน 3 ด้าน: (1) เข้าร่วมกับเครือข่ายนานาชาติ COVAX ในการต่อรองและจัดซื้อวัคซีน (2) สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แอสตร้าเซนิก้า ผลิตวัคซีนภายในประเทศที่บริษัทสยามไบโอซายน์ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้รับวัคซีน 26 ล้านโดส ภายในปลายปีหน้า (2564) (3) ส่งเสริมการคิดค้นพัฒนาวัคซีนและผลิตได้ในประเทศ 

สรุปประเทศไทยจะเริ่มมีวัคซีนใช้สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก น่าจะประมาณกลางปีหน้า และอาจจะมีการนำเข้าวัคซีนอื่น ๆ จากภาคเอกชนเพื่อให้มีการเข้าถึงประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนของไทย เป้าหมายสำคัญคือ ประเทศสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดในการระบาดครั้งนี้ รวมทั้งการระบาดในอนาคตขณะนี้มีอย่างน้อย 5 หน่วยงาน เป็นภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาฯ, มหิดล, สวทช., องค์การเภสัชกรรม และมีภาคเอกชน 1 แห่งคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย จำกัด กำลังมุ่งมั่นเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง ข้อมูลล่าสุด มีสองวัคซีน คือ mRNA vaccine ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (เริ่มฉีดในอาสาสมัครประมาณเดือนเมษายน 2564) และ DNA vaccine ของบริษัทไบโอเนทเอเชีย ที่พร้อมจะเข้าสู่การทดสอบในกับอาสาสมัครระยะที่หนึ่ง ส่วนอีกหนึ่งวัคซีนที่กำลังเตรียมผลิตและทดสอบความพร้อมกับอาสาสมัครคือ plant-based protein vaccine จากบริษัทใบยาและคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งนี้ วัคซีนชนิด mRNA กำลังเตรียมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาให้โรงงานผลิตวัคซีนไทยคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายเริ่มผลิตในประเทศไทยให้ได้ภายในปลายปีหน้า (2564)  ขึ้นอยู่กับการเร่งดำเนินการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนให้เพียงพอและทันท่วงที

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *