กองทุนสื่อเปิดตัวงานวิจัยเฝ้าระวังสื่อ รับมือความรุนแรงในโลกไซเบอร์

​ที่กระทรวงวัฒนธรรม(๑๑พ.ย.๒๕๖๓) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อฯ และดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฝ้าระวังสื่อฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการวิจัยพร้อมกับชี้แจงยุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญในการรับมือความรุนแรงในสื่อทั้งการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังต่อกัน ไปจนถึงการสร้างข่าวปลอม และการคุกคามกันในโลกไซเบอร์ 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาความรุนแรงมีมากขึ้นในโลกไซเบอร์ ทั้งการระรานและคุกคามกันหรือไซเบอร์บูลลี่ การโจมตีใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังหรือประทุษวาจา ตลอดจนข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้ง กองทุนสื่อฯได้จับตาดูแนวโน้มนี้ร่วมกับนักวิชาการและมีความห่วงใยต่อสังคมในเรื่องนี้มาโดยตลอด การให้ทุนสนับสนุนที่ผ่านมาก็มีการให้ทุนสนับสนุนการริเริ่มนวัตกรรมสื่อเพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางลดปัญหาความรุนแรง ในสื่อแบบนี้ลง ทั้งนี้ โดยร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติสามปีเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว และแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนเองมุ่งที่จะให้การสนับสนุนการรับมือความรุนแรงในสื่อไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนวัตกรรมสันติวิธี เพิ่มพื้นที่การพูดคุยข้ามความแตกต่าง 
ไม่เฉพาะเรื่องการเมืองแต่ทุกเรื่องที่มีหลายมุมมอง มุ่งสร้างวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ (civility) การคิดอย่างใคร่ครวญ (thoughtfulness) และความเข้าใจกัน (mutual understanding) ที่อาจเริ่มจากประเด็นทั่วไปที่มีคนสนใจมาก เช่นเรื่องสุขภาพ อาหาร การเงิน สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ซึ่งในระยะยาวก็อาจก้าวไปสู่ การมีพื้นที่พูดคุยความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ได้ในประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการเมือง ศาสนา เป็นต้น 

โดย นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่าปัญหาสื่อไม่ปลอดภัยเปลี่ยนไป จากแค่สื่อลามกและการพนันออนไลน์ที่ก็ยังเป็นปัญหา มาสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อกันทั้ง cyber bully และ hate speech  ยังไม่รวมถึงเรื่อง fake news ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน งานเฝ้าระวังจึงปรับตัวตามลักษณะปัญหา เน้นงานส่งเสริมการรู้เท่าทันหรือ media literacy ควบคู่กับงานเฝ้าระวัง และการทำงานบูรณาการไปกับงานพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังมีแผนที่จะเสนอให้กองทุนมีศูนย์วิจัยสื่อหรือ Media Research Center ติดตามสถานการณ์การรับสื่อของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง สำหรับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อกันในสื่อไซเบอร์ รวมถึงปัญหาการสร้างข่าวปลอมไปแก้ที่ปลายเหตุด้วยการลงโทษไม่ได้ แต่ต้องแก้ที่ต้นทางคือปัญญาความรู้เท่าทันของผู้รับสื่อ ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯได้เห็นชอบในเบื้องต้นแล้วต่อแผนการทำงานที่จะร่วมมือและสนับสนุนภาคี ซึ่งนอกจากภาคีหลักคือกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งมี
ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ทำงานควบคู่กันมาโดยตลอดแล้ว ยังมีภาคีอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเช่น ยูเนสโก เพื่อร่วมกันผลักดันการรณรงค์และป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจประชาชนในกลุ่มอายุและกลุ่มอาชีพต่างๆรวมถึงกลุ่มเฉพาะได้แก่ผู้พิการและกลุ่มชาติพันธุ์พบว่า เกือบร้อยละ๘o มีการใช้สื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค ไลน์ 
ทวิตเตอร์สม่ำเสมอ   ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียลพบว่าอันดับหนึ่งร้อยละ ๗๘ กังวลกับปัญหาข่าวปลอม  รองลงมาร้อยละ ๕๘ กังวลการระรานทางไซเบอร์ และร้อยละ ๕๔ กังวลเรื่องการใช้ประทุษวาจาหรือคำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชังกันตามลำดับ  นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในปี ๒๕๖๒  พบว่าร้อยละ  ๓๕-๔o ของเด็กมัธยมเคยระรานหรือถูกระรานทางไซเบอร์ ในส่วนของเรื่องข่าวปลอม ตัวเลขของประเทศต่างๆคล้ายคลึงกันกล่าวคือร้อยละ๕o-๗o แล้วแต่กลุ่มอายุได้รับข่าวปลอมสม่ำเสมอราวร้อยละ ๓o-๔o เคยแชร์ข่าวปลอม และมีเพียงราวร้อยละ ๕-๑o เท่านั้น  ที่เคยมีการตรวจสอบแหล่งข่าวจนรู้ว่าเป็นข่าวปลอม และในส่วนของประทุษวาจาหรือการใช้คำพูดรุนแรงต่อกันกำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเป็นการกระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ตลอดจนกลุ่มการเมือง  
โดย ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่าจากการประชุมระดมความคิดร่วมกับนักกฎหมายเห็นตรงกันว่าคำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชังอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะกรณีประทุษวาจาที่ยกระดับไปสู่การข่มขู่หรือยั่วยุให้มีการทำร้ายกันถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *