ม.วลัยลักษณ์ เปิดตัวสวนกล้วยฯ แหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยหายากกว่า 100 ชนิด

อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม“เรียนรู้ คู่ ชม ชิม กล้วย@อุทยานพฤกษศาสตร์” เพื่อเปิดตัวสวนกล้วย เป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมกล้วยไทย-ต่างประเทศหายากเกือบ 100 สายพันธุ์ 

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า แนวคิดหลักของการจัดทำโครงการอุทยานการศึกษา ม.วลัยลักษณ์ คือ การใช้พื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามอัธยาศัยและตลอดชีวิต ทั้งในและนอกระบบ เน้นการสร้างความหลากหลาย ดุลยภาพและความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะกล้วยในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ จึงให้แนวคิดกับอุทยานพฤกษศาสตร์ไปพัฒนาพื้นที่และรวบรวมพันธุ์กล้วย เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปด้วย 

 ปัจจุบันอุทยานพฤกษศาสตร์ ได้รวบรวมพันธุกรรมพืชกล้วยในเมืองไทยไว้ได้เกือบ 100 สายพันธุ์ จำนวน 292 ต้น เช่น กล้วยสาวกระทืบหอ กล้วยน้ำนม กล้วยนาก กล้วยร้อยหวี กล้วยช้าง กล้วยเทพรส กล้วยพม่าแหกคุก กล้วยนมสาว เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นพันธุ์กล้วยหายาก เพื่อทำการศึกษาและขยายพันธุ์ต่อไป


ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ม.วลัยลักษณ์ยังมีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อุทยานพฤกศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และรวบรวมพันธุกรรมพืชภาคใต้  ทั้งพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม พันธุ์กล้วยไม้ กระบองเพชร ขิง ข่า สมุนไพร รวมทั้งการศึกษาและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ามานิ การก่อสร้าง Canopy Walkway ทางเดินลอยฟ้าชมธรรมชาติแบบพาโนรามา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ได้ในเร็วๆนี้

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *