วช. จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” รูปแบบใหม่ New Normal

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ แถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15 วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์

การจัดงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานของหน่วยงานในเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ New Normal และเนื่องจากเกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการ ในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบ Online คือการเข้าร่วมประชุมสัมมนาและชมนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ผ่านซ่องทางต่าง ๆ ที่ผู้จัดงานจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการรับชมจากสถานที่ต่าง ๆ 2) รูปแบบ Onsite คือ การเข้าร่วมสัมมนาและชมนิทรรศการ ณ สถานที่จัดงาน ผ่านทางเว็บไซต์ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในการจัดงานมีความจำเป็นในการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมประเภท Onsite หากแต่ไม่จำกัดจำนวนประเภท Online และของดการลงทะเบียนหน้างาน และ Walk in ในทุกกรณี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ กว่า 300 ผลงาน โดยมุ่งเน้น เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model และในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน

ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ภายในงานฯ ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย นิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่
นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ส่วนภาคการประชุมและสัมมนามีมากกว่า 100 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรม Highlight Stage เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ กิจกรรม Thailand Research Symposium 2020 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่าง ๆ

ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่น ๆ กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 การมอบรางวัล Thailand Research Expo 2020 Award ให้แก่หน่วยงานที่นำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยภายในงาน ได้อย่างมีความโดดเด่นและมีคุณภาพ กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการในพระราชดำริ ผลงานวิจัยและภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดย MASCOT ในปีนี้ ได้แก่ “น้องแกล้งดิน” ซึ่งได้แนวความคิดจากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีแกล้งดิน” ซึ่งเป็นโครงการ
ในพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว “ทูตวิจัย” คนแรก ของประเทศไทย ประจำปี 2563 “อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์” อีกด้วย

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *